“วงค์ ตาวัน”

มีความเคลื่อนไหวเป็นลำดับจากนายอลงกรณ์ พลบุตร ในลักษณะเริ่มหยั่งเชิงขอเป็นคู่ชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งน่าจับตามองอย่างมาก ในฐานะที่เคยเป็นรองหัวหน้าพรรคนี้มาก่อน และเคยจุดประเด็นให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงพรรค

ด้วยการเรียกร้องให้เลิกหลงอยู่กับคำกล่าวที่ว่า “เราแพ้เพราะเขาซื้อเสียง”

โดยหนนั้นนายอลงกรณ์ยืนยันว่า นโยบายใหม่ๆ ที่เข้า ถึงประชาชน เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้พรรคคู่แข่งเหนือกว่า ประชาธิปัตย์ ไม่ใช่เพราะพรรคนั้นใช้เงินอะไรหรอก

สิ่งที่นายอลงกรณ์เสนอคราวนั้น ตรงใจกับคนรุ่นใหม่ของประชาธิปัตย์ไม่น้อยเลย

แต่หลังการรัฐประหาร ล้มประชาธิปไตยเมื่อปี 2557 นายอลงกรณ์ออกจากประชาธิปัตย์ แล้วไปมีบทบาทในสภาปฏิรูปในยุคคสช.

ดังนั้นเมื่อมีชื่อมาเป็นคู่ท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ก็เลยต้องโดนข้อสงสัยว่าเป็นนอมินีคสช.หรือไม่!?

เทียบกับข้อเสนอที่เคยให้ปฏิรูปพรรค เลิกเอาแต่ โทษว่าพรรคนั้นซื้อเสียง ก็นับว่าเป็นความหวังของชาวประชาธิปัตย์รุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงพรรค

อยากเห็นมีนโยบายที่ชัดเจนเป็นตัวของตัวเอง เป็นเอกลักษณ์ เพื่อจะได้สู้กับพรรคอื่นๆ เช่น เพื่อไทยได้เสียที

แต่วันนี้เมื่อไปมีบทบาทอยู่ในกระบวนการปฏิรูปยุครัฐบาลทหาร

ก็เลยเกิดภาพทับซ้อนว่าจะเป็นตัวแทนจากฝ่ายทหาร ในการมายึดประชาธิปัตย์หรือไม่

แต่จุดนี้ไม่ใช่จุดอ่อน อาจจะกลายเป็นจุดแข็งของนายอลงกรณ์ก็เป็นได้

เพราะในประชาธิปัตย์ ก็เต็มไปด้วยความสับสนด้านจุดยืนแนวทางการเมือง!

เมื่อแกนนำสำคัญๆไปยืนแวดล้อมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตอนนำม็อบเป่านกหวีดเพื่อชัตดาวน์ และลงเอยเป็นรัฐประหาร ได้รัฐบาลประยุทธ์มาปกครองยาวนาน

มาวันนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมาเล่นบทชนแหลกกับอำนาจทหาร

ก็ทำให้คนเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง หรือค่อนข้าง จะมึนงง ว่าลึกๆ แล้วเอาไงแน่!?!

ที่สำคัญเกิดกระแสภายในประชาธิปัตย์เองว่า เมื่อไม่มี “แม่บ้านพรรค” ที่แยกไปนำม็อบนกหวีดและไปตั้งพรรค ใหม่แล้ว

จากนี้ไป การขับเคลื่อนของประชาธิปัตย์จะเกิดสภาพเช่นไร

ถ้ามีนายอลงกรณ์ที่พูดจาไปได้ด้วยกันกับฝ่ายคสช. อาจจะมีผลดีบางอย่างในฉับพลันทันทีก็เป็นได้

อาจจะกล่าวได้ว่า กำลังเกิดการต่อสู้ระหว่าง 2 กระแสภายในพรรคนี้

ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จึงมีแนวโน้มว่าน่าจะเข้มข้นสุดขีด

จะเดินไปแบบเดิมๆ หรือจะเปลี่ยนแปลงแปลกใหม่!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน