เรียนรู้การสู้คดี 6 ตุลาฯ กับ 99 ศพ
คอลัมน์ชกไม่มีมุม โดยวงค์ ตาวัน

ในเดือนตุลาคม ซึ่งนอกจากจะมีการรำลึกถึงวันต่อสู้ของนักศึกษาประชาชน ที่ยอมตายยอมพิการเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพประชาธิปไตย เมื่อ 14 ตุลาคม 2516

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรยากาศที่บ้านเมือง อยู่ในช่วงที่สูญสิ้นประชาธิปไตยมากว่า 4 ปี แล้วกำลังจะได้คืนมา

ยิ่งต้องพูดถึงวีรชนเมื่อปี 2516 ที่เขาอุตส่าห์สละกระทั่งชีวิตเพื่อให้ได้มา แต่กลับถูกคนอีกกลุ่มทำลายอำนาจในมือประชาชน เอาไปยกให้คนกลุ่มเดียวเป็นรัฐบาลปกครองบ้านเมืองแทน

ดังนั้นเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง คือวันที่ประชาชนต้องใช้อำนาจเพื่อรักษาประชาธิปไตยให้ยาวนาน และยกระดับพัฒนาไปมากขึ้น!

นอกจากนี้ในเดือนตุลาฯ ยังมีวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ต้องรำลึกกัน เป็นวันปราบปรามเข่นฆ่า ต้องการหยุดขบวนการนักศึกษาประชาชน ที่ขยายตัวจาก 14 ตุลาคม 2516

 

ชกไม่มีมุม : เรียนรู้การสู้คดี 6 ตุลาฯ

เหตุการณ์ 6 ตุลา

โดยใช้วิธีสร้างสถานการณ์ผ่านสื่อฝ่ายขวา ปลุกอารมณ์คนไทยให้เกลียดชังกันเอง แล้วนำมาสู่การฆ่าอย่างเหี้ยมโหด โดยใช้เจ้าหน้าที่รัฐพร้อมอาวุธสงครามเข้าผสมโรงกับมวลชนที่โกรธแค้น

ผู้รอบรู้สรุปสิ่งที่ต้องเรียนรู้จาก 6 ตุลาคม เอาไว้ว่า ต้องไม่เป็นเหยื่อการสร้างข้อมูลเท็จ แล้วหลงไปกับอารมณ์และอคติ

ควรมองการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยกติกา ประชาธิปไตย เห็นต่างกันได้ คิดต่างกันได้ ใช้ข้อมูลเหตุผลมาหักล้างกัน แล้วไปตัดสินกันในวันเลือกตั้ง

ฝ่ายไหนพ่ายแพ้ ก็ไปปรับแก้ใหม่ อีก 4 ปีมีโอกาสให้ชาวบ้านตัดสินใจใหม่ได้

เพราะ 6 ตุลาฯ ใช้ความรุนแรงเข้าจัดการฝ่ายคิดต่าง กลายเป็นผลักให้ไปสู่สงครามการสู้รบด้วยอาวุธ จนต้องมาแก้ไขกันด้วยคำสั่งที่ 66/23 เปิดทางให้กลับคืนเมืองต่อสู้ อย่างสันติ

บทเรียนที่สำคัญจาก 6 ตุลาฯ อีกอย่างคือ ยังมีการจับกุม ผู้นำนักศึกษาไปดำเนินคดี ด้วยข้อหาร้ายแรง เป็นกบฏ เป็นคอมมิวนิสต์

ในระหว่างการสู้คดีด้วยระบบศาลทหารนั้น ทนายฝ่ายจำเลย คือ 18 ผู้นำนักศึกษา ได้ต่อสู้คดีด้วยการซักค้านพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ

ถามว่าผู้บังคับบัญชาคนไหนสั่งการให้มาที่ธรรมศาสตร์ในวันนั้น เอาอาวุธอะไรมา ยิงไปอย่างไร!?

จากชั้นประทวน ไล่ถึงระดับสัญญาบัตร จากนายพัน ขึ้นไปถึงนายพล

การซักค้านของจำเลย กลายเป็นการเปิดโฉมหน้าผู้สั่งการให้ใช้อาวุธจริงกับนักศึกษาเป็นชั้นๆ ขึ้นไป

จนทำให้ฝ่ายรัฐต้องตัดสินใจยุติคดี ด้วยการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย ยุติการเปิดโฉมหน้าผู้เกี่ยวข้องกลางศาลด้วย!

กระบวนการสู้คดี 6 ตุลาฯ ในศาล จึงเป็นอีกบทเรียนที่น่าสนใจ เพื่อใช้พิสูจน์ความจริง 99 ศพ เหตุรุนแรงด้วยอาวุธจริงของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553

เมื่อคดีหลักๆ หลุดพ้นไปจากกระบวนการยุติธรรม แทบไม่มีช่องทางให้พิสูจน์ความจริงเหลืออีกแล้ว

ที่เรียนรู้จากคดี 6 ตุลาฯ คือ ฟ้องใหม่คดี 99 ศพ เริ่มจาก เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ที่มีชื่อสังกัดปรากฏในสำนวนคดีอยู่แล้ว

ฟ้องจากระดับล่าง ไปสู่คนสั่งระดับบน

พิสูจน์ถึงคนที่มีอำนาจสั่งการในรัฐบาลขณะนั้นด้วย!

……………………………..

 

อ่านบทความก่อนหน้านี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน