คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

วงค์ ตาวัน

เหตุการณ์คุณลุงปีนเสาสูงพร้อมป้ายประท้วง เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ม.44 กับวัดพระธรรมกาย โดยมีกำหนดเวลาเส้นตายไว้ชัดเจน แล้วลงเอยด้วยการฆ่าตัวตายอย่างน่าเศร้าใจ

หลังจากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงความเสียใจกับผู้สูญเสีย พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกคนมีสติ อย่าใช้ศรัทธามาปกป้องคนกระทำผิดไม่กี่คน

เป็นคำเรียกร้องที่ผู้สนับสนุนธรรมกายควรไตร่ตรอง

แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็คงต้องรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการใช้มาตรการที่ไม่เหมาะสมในการจัดการ กับธัมมชโยด้วย

กฎหมายต้องเดินหน้าตามความผิดที่เกิดขึ้น แต่กระบวนการขี่ช้างจับตั๊กแตนนั้น ก็ต้องขบคิดด้วยเช่นกัน

เพราะวันนี้คนเดือดร้อนไม่ใช่แค่คนผิดกฎหมายไม่กี่คนเท่านั้น!?!

กรณีคุณลุง ต้องหาข้อเท็จจริงด้วยว่า แค่ศรัทธา หรือเพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐด้วยหรือไม่

ผลสะเทือนจากการฆ่าตัวตายครั้งนี้ ต้องนำมาสู่การถกเถียงถึงต้นตอปัญหา

นั่นคือการใช้ม.44 กับวัดและพระ

ไม่ใช่หาเรื่องโทษคนนั้นคนนี้ เพื่อเบนปัญหา!

อย่างรายที่ตั้งตนเป็นนักวิชาการด้านสื่อ แต่ไม่เคยรู้เรื่องสื่อเลยนั้น ไม่ทันไรก็โทษสื่อ ในการรายงานสดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ไม่รู้กระทั่งว่าหน้าที่สื่อคือนำเสนอความจริง และคนในสังคมต้องมีเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร

สื่อคือกระจกเงาสะท้อนภาพที่เป็นจริง ไม่ใช่ควบคุมภาพหรือปกปิดบิดเบนภาพ!!

การรายงานเหตุการณ์อย่างรวดเร็วจริงจัง ยังเป็นการนำเสนอถึงรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหา ที่มีชีวิตคนเป็นเดิมพัน

อีกทั้งไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้ว่า จะจบลงเช่นไร

แต่พอมีคนตายก็โทษสื่อ ทำราวกับว่าเพราะสื่อนั่นแหละคนเลยตาย โดยไม่พูดถึงต้นเรื่องที่เขาประท้วงม.44

อย่าห่วงใยผลกระทบต่อผู้มีอำนาจ มากกว่าชีวิตคนเลย!

พฤติกรรมที่คอยจ้องจับผิดจุกจิกนั้น ไม่ต่างอะไรกับคนที่หวั่นเกรงว่าสื่อจะมีเสรีภาพเต็มเปี่ยม

นั่นคือคนที่ห่วงอำนาจรัฐ มากกว่าสิทธิในการรับรู้ข่าวของชาวบ้าน

เอาเป็นว่า วันนี้ควรต้องถกเถียงกันเรื่องความตายของคุณลุง

โดยมุ่งไปต้นเหตุของปัญหา อย่ามัวเบนเรื่อง

จุดสำคัญคือ ต้องไม่ให้มีความสูญเสียเกิดขึ้นอีก!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน