หลังศึกแถลงนโยบาย มีคำถามตามมามากมาย : ชกไม่มีมุม
คอลัมน์ – ชกไม่มีมุม
ชกไม่มีมุม – ศึกแรกของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเผชิญหน้ากับฝ่ายค้านในสภา วาระการแถลงนโยบายรัฐบาล ทำให้ได้เห็นความไม่ลงตัวหลายประการของนายกรัฐมนตรีที่มาจากกองทัพ และเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร แล้วคงอยู่ในอำนาจต่อไป ภายใต้การเมืองยุคเลือกตั้ง มีสภาที่สั่งไม่ได้เหมือนยุคสนช.
นักวิเคราะห์การเมืองสรุปว่า สงครามในสภาหนแรก ทำเอานายกฯและรัฐมนตรีบางคน อ่วมอรทัย
ส่วนหนึ่งตัวนโยบายของรัฐบาล ใช้วิธีเขียนแบบกว้างๆ ไม่มีรูปธรรม ไม่มีเป้าหมายกรอบเวลา รวมทั้งตัวเลขเม็ดเงิน ไม่มีตัวชี้วัด
เมื่อไม่สามารถหยิบเนื้อหาสาระได้ ฝ่ายค้านเลยมุ่งเข้าไปที่ตัวบุคคลผสมผสานไปด้วย
เลยต้องพูดถึงคุณสมบัติ ความเป็นมา เพื่อประเมินความสามารถว่าจะทำให้นโยบายบรรลุได้หรือไม่!?
อย่างเช่นนโยบายที่ว่าจะยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ก็ต้องย้อนไปถึงการเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร
เป็นคำถามว่าเป็นผู้มีความศรัทธาในประชาธิปไตยจริงหรือ?
แถมนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ผู้อภิปรายเรื่องนี้ อยู่ในเหตุการณ์วันที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยึดอำนาจที่สโมสรกองทัพบกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ด้วย
เลยได้โอกาสนำเอาถ้อยคำที่พูดในวันนั้นว่า อย่าสู้ เพราะเตรียมการมากว่า 3 ปีแล้ว
เพื่อตั้งคำถามกับหัวหน้าคสช. เพราะเป็นคำพูดที่ขัดแย้งกับข้ออ้างที่ว่า จำเป็นต้องรัฐประหาร ต้องตัดสินใจเพื่อป้องกันการสูญเสียของประชาชน
แม้พล.อ.ประยุทธ์จะตอบเรื่องนี้ในภายหลังว่า เพิ่งคิดจะยึดอำนาจในวันนั้น ที่ว่าเตรียมการมา 3 ปี หมายถึงการจัดฝึกกำลังพลเพื่อรับสถานการณ์ขัดแย้งรุนแรง
ฟังคำชี้แจงนี้แล้ว ประชาชนคงตัดสินได้ว่า เชื่อได้ หรือไม่!?
ไม่เพียงประเด็นความศรัทธาในประชาธิปไตยเท่านั้น
ส.ส.ฝ่ายค้านรายอื่นๆ ก็ยังทำให้ได้เห็นถึงภาวะอารมณ์ของนายกรัฐมนตรี
แต่ไม่แค่ปัญหาการควบคุมอารมณ์เท่านั้น ยังมีการ กระทำในสภาอีกหลายอย่างที่สะท้อนอะไรมากกว่านั้น เช่น ที่ฝ่ายค้านโต้แย้งว่า ส.ส.ไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของพล.อ.ประยุทธ์
เป็นเรื่องน่าคิดว่า แค่เป็นบุคลิกที่ติดมาตามประสาอดีตผู้นำทหารเท่านั้นเองหรือ!?
หรือว่าเป็นทัศนคติที่ฝังลึกในการมองนักการเมือง
ที่เข้ามาเป็นนายกฯภายใต้ระบบรัฐสภา แต่ลึกๆแล้วมองสภาด้วยสายตาอย่างไร
รวมทั้งการชี้แจงตอบโต้ฝ่ายค้านว่า เลิกได้แล้วการเมืองแบบเก่าๆ มีแต่จะต้องมาร่วมกันทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง!?
ทั้งที่ระบบสภา ก็ต้องมีฝ่ายค้านเอาไว้ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นที่สุด
มีรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลรัฐประหารเท่านั้น ที่มีสภาเพื่อสนับสนุนไม่ใช่เพื่อถ่วงดุล!
โดย – วงค์ ตาวัน