เสียงหนุนแก้รธน.ต่างจากวันประชามติ

คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

วงค์ ตาวัน

เสียงหนุนแก้รธน.ต่างจากวันประชามติ – ทุกครั้งมีเกิดความเคลื่อนไหวผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะมีฝ่ายปกป้องออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการแก้ ด้วยการอ้างเสียงประชาชน 16 ล้านเสียงที่ให้ความเห็นชอบในการทำประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม 2559

โดยจะย้ำว่า ต้องเคารพเสียงคน 16 ล้านที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญแบบนี้ด้วย

ความจริงเสียงคนที่มากถึง 16 ล้าน จะมีน้ำหนักมาก ถ้าบรรยากาศในช่วงก่อนวันลงประชามติ ดังกล่าว เป็นไปอย่างเปิดเผยเป็นธรรม!?!

ไม่มีการปิดกั้นฝ่ายที่รณรงค์ข้อมูลชี้ผลเสียของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

มีคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหรือชี้ปมประเด็นปัญหาของรัฐธรรมนูญถูกจับกุมดำเนินคดีระนาว

มีมากกว่า 200 คนที่ตกเป็นผู้ต้องหาจากเหตุการณ์นี้

นี่จึงเป็นจุดบอดของประชามติรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้การอ้าง 16 ล้านเสียงมีข้อโต้แย้งอย่างมาก!

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่คณะรัฐประหาร คสช.ยังคงอำนาจเต็มเหยียด

จึงเปรียบกันว่า บรรยากาศช่วงจัดทำประชามติรับหรือ ไม่รับรัฐธรรมนูญนั้น เหมือนถูกปืนจี้หัว

ถ้าช่วงนั้น ทำให้เกิดบรรยากาศที่เปิดกว้าง ตรงไปตรงมา ยอมให้ฝ่ายรณรงค์ค้านร่างรัฐธรรมนูญได้แสดงความเห็นเต็มที่

ให้ประชาชนได้รับฟังและพิจารณาอย่างรอบด้าน

ผลประชามติก็จะมีความหนักแน่นศักดิ์สิทธิ์อย่างสูง!

อีกประเด็นที่ผลประชามติถูกโต้แย้งอย่างมากก็คือ นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อปี 2559

แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงที่บ้านเมืองคืนความเป็นปกติ จัดเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น

มีพรรคการเมืองหลายพรรค ชูประเด็นจะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจอย่างจริงจังด้วย

ผลก็คือ พรรคเพื่อไทยที่ชูธงแก้รัฐธรรมนูญ ได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงของประชาชนจนมีส.ส.เป็นอันดับ 1 อนาคตใหม่ที่ชูประเด็นนี้อย่างแหลมคม ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาเป็นอันดับ 3

น่าจะอธิบายได้ว่า เมื่อฝ่ายรณรงค์ต่อต้านรัฐธรรมนูญ มีโอกาสได้พูดจาในวงกว้างไม่เสมือนถูกปืนจี้ ทำให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลได้เข้าใจและกลายเป็นผลคะแนนในการเลือกตั้งดังกล่าว

แล้วยิ่งผลพวงของรัฐธรรมนูญ ทำให้ 250 เสียงของส.ว.จากการแต่งตั้ง

กำหนดนายกรัฐมนตรีได้เหนือกว่าเสียงของประชาชนหลายล้านที่ไปเลือกตั้ง

ยิ่งเกิดความกระจ่าง และเจ็บช้ำใจในหมู่ประชาชน

กลายเป็นกระแสสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญในวงกว้างขณะนี้!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน