คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

วงค์ ตาวัน

ความจริง ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้เตรียมเรื่องปฏิรูปตำรวจเอาไว้ ไม่น้อย เริ่มเดินเครื่องตั้งแต่ตอนที่พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ยังเป็นรองผบ.ตร.และเป็นหัวหน้าคณะทำงานเรื่องปฏิรูปตำรวจ

เรื่องหนึ่ง ที่เตรียมเอาไว้แล้วคือ

การใช้งานวิทยาการ งานพิสูจน์หลักฐาน เข้ามามีบทบาทสำคัญในการคลี่คลายคดีต่างๆ

สูตรที่พล.ต.อ.จักรทิพย์ และพล.ต.อ.พงศพัศ เคยแถลงข่าวเอาไว้ น่าสนใจ

ได้มอบหมายให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ จัดชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุ อยู่ประจำสถานีตำรวจต่างๆ

เพื่อออกทำงานพร้อมพนักงานสอบสวน!

ชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุ เป็นกลไกสำคัญในการตรวจเก็บพยานหลักฐาน ตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ยืนยันการจับกุมดำเนินคดี

เริ่มต้นที่ 514 โรงพักก่อน

ขณะที่สถานีตำรวจทั่วประเทศมี 1,482 แห่ง อีก 968 สถานี เป็นโครงการระยะต่อไป

ใน 514 สถานีเริ่มต้นนั้น จะมีชุดตรวจที่เกิดเหตุของพฐ.ประจำอยู่ที่โรงพักละ 3 ชุด เพื่อทำงานได้ 24 ชั่วโมง

รวมแล้วต้องมี 1,542 ชุด ประจำสถานีตำรวจ 514 แห่ง!

แต่ละชุดมี 3 นาย เป็นนักวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่หัวหน้า 1 นาย

เท่ากับว่าจะใช้นักวิทยาศาสตร์ 1,542 นาย และผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์อีก 3,084 นาย สำหรับโครงการเริ่มแรก

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ไปเร่งปรับเกลี่ยนักวิทยาศาสตร์ และสรรหาเพิ่มโดยด่วน ตั้งเป้าว่า จะต้องได้ทีมงานครบใน 1 ปี

รวมไปถึงการจัดหายานพาหนะและเครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ กระเป๋าพร้อมชุดอุปกรณ์ตรวจสถานที่เกิดเหตุ ชุดไฟหลายความถี่ใช้ตรวจลายพิมพ์นิ้วมือแฝง เครื่องตรวจหาโลหะ เครื่องลอกลายนิ้วมือชนิดฝุ่น กล้องถ่ายภาพดิจิตอล เครื่องวัดระยะโดยใช้แสงเลเซอร์

ไอเดียนี้สอดรับกับโลกยุคใหม่

การใช้วิทยาศาสตร์เคียงคู่งานสอบสวน และการสืบสวน จำเป็นอย่างมาก

เป็นการยกมาตรฐานความน่าเชื่อถือ

อย่างเช่น คดีในเมืองท่องเที่ยว ที่สื่อนอกจับตา จะได้หมดข้อครหาเสียที!!

โครงการนี้ คณะกรรมการปฏิรูปที่พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน

ต้องบรรจุเป็นหัวข้อสำคัญหัวข้อหนึ่ง!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน