คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

สิ่งที่รัฐต้องระวัง ในสถานการณ์ม็อบ – บ้านเมืองเราเข้าสู่ช่วงการชุมนุมประท้วงทางการเมืองอีกครั้ง โดยเป็นยุคการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ เด็กนักเรียนนักศึกษา เริ่มจากแฟลชม็อบ พัฒนามาเป็นม็อบจริงม็อบเบิ้ม รวมทั้งที่นัดหมายใหญ่ในวาระ 14 ตุลาคมนี้

ที่น่าสนใจพิจารณาคือ ฝ่ายรัฐบาล ควรจะต้องมีท่าทีกับการประท้วงของเด็กนักเรียนนักศึกษานี้อย่างไร

รวมทั้งอะไร ที่จะต้องระมัดระวัง ไม่ให้กลายเป็นความผิดพลาด กลายเป็นยิ่งทำให้สถานการณ์ลุกลามขยายตัวไปกันใหญ่!?

เริ่มจาก ฝ่ายรัฐควรจะต้องมองม็อบของเด็กรุ่นใหม่ โดยไม่ใช่ด้วยสายตาแบบเดิมๆ ในการมองม็อบสีเสื้อต่างๆ

แต่เราจะเห็นว่า วิธีการมองของรัฐ น่าจะยังใช้ความ เคยชินเก่าๆ

เช่น หาว่าใครคือผู้ชักใย เด็กวัยขนาดนี้ คงคิดอะไรไม่ได้เท่านี้

เลยพานเชื่อเอาว่า จะต้องมีนักการเมืองปลุกปั่นวางแผนอยู่เบื้องหลัง ไปจนถึงเป็นท่อน้ำเลี้ยง!!

บอกได้เลยว่า ถ้ายังใช้สายตาแบบเดิมๆ ในการประเมินม็อบ ก็จะทำให้จัดการปัญหาการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องต่างๆ อย่างผิดพลาด

มองผิด มีข้อมูลผิด แก้ปัญหาอย่างผิดๆ

อาจจะกลายเป็นชนวนเหตุที่ทำให้รัฐบาลเองอยู่ไม่ได้ในที่สุด

อีกประเด็นที่น่าห่วงคือ ข้อมูลจำนวนผู้ร่วมการเคลื่อนไหว

ถ้าม็อบมากันหลายหมื่นจนถึงแสน แต่ฝ่ายข่าวไม่อยากให้ผู้นำรัฐบาลหงุดหงิด ก็ลดตัวเลขม็อบแบบหั่นแหลก อันนี้ก็จะเป็นอีกประเด็นสำคัญเลยทีเดียว!

ฟังแต่รายงานประเภท มากันไม่เยอะ ไม่มีพลังพอจะเขย่ารัฐบาลได้

ทีนี้ก็เลยไม่สนใจ ไม่แยแส ม็อบ ไม่คิดจะรับฟังข้อเรียกร้อง เพื่อจะหาทางออกที่คลี่คลายสถานการณ์

จนสุดท้ายก็อาจจะสายเกินแก้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็ควรจะต้องประเมินตัวเองไปพร้อมๆ กันด้วย

ที่บริหารบ้านเมืองอยู่ในทุกวันนี้ แก้ปัญหาได้ดีพอจริงหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจรัฐบาลนี้มากมายจริงหรือ

ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง กำลังโบยตีชาวบ้านอย่างหนัก ข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะธุรกิจเจ๊ง แบกหนี้ไม่ไหว ก็มีอยู่ต่อเนื่องเป็นระยะๆ

เหล่านี้น่าเป็นห่วงแทนรัฐบาล

ในทางการเมือง ในเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องประชาธิปไตย กำลังถูกเด็กประท้วงอย่างหนัก ขณะที่ประชาชนทั่วไปกำลังยากลำบากเต็มไปด้วยความฝืดเคือง

2 เรื่องนี้ไหลมารวมกันเมื่อไหร่ ก็ไม่มีใครโอบอุ้มปกป้องรัฐบาลนี้เอาไว้ได้!

 

วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน