คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

อย่าทำผิดกฎหมาย แต่กฎหมายไร้มาตรฐาน : การอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมของคนในรัฐบาล ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาถึงบริวารแวดล้อม มักจะใช้คำพูดคำหนึ่งที่ว่า อย่าทำผิดกฎหมายสิ

ทั้งที่รู้กันดีว่า ปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองเรา คือ ความยุติธรรมหลายมาตรฐาน!?

กฎหมายหลายอย่าง เอื้ออำนวยให้แก่กลุ่มที่มีอำนาจเท่านั้น อย่างเช่นรัฐธรรมนูญ ที่ยอมรับกันทั่วแล้วว่า ถ้าไม่แก้ รับรองสังคมนี้ไม่มีวันสงบสุข

เขียนให้มี 250 ส.ว.กำหนดนายกฯ และรัฐบาล มีอำนาจอยู่เหนือเสียงประชาชนที่ไปเลือกตั้ง นี่คือกติกาที่สร้างความเหลื่อมล้ำ และรัฐบาลนี้นายกฯ คนนี้ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว

ถ้าจะพูดเตือนถึงฝ่ายอื่น ว่าอย่าได้ทำผิดกฎหมาย ก็ควรทำให้กฎหมายมีมาตรฐานเดียวเป็นที่เชื่อถือเสียก่อน

ที่สำคัญพูดถึงแกนนำม็อบเยาวชนที่ถูกคุมขังเวลานี้ เพียงแค่คำว่า เพราะทำผิดกฎหมายไง จึงต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ

เป็นคำอธิบายที่ต้องบอกว่า อย่าพูดเลยจะเป็นประโยชน์กว่า!!

ถ้าแค่บอกว่าเด็กพวกนี้ทำผิดกฎหมายก็เลยต้องถูกคุมขัง แสดงว่าไม่ได้รับรู้เลยว่า คนในสังคมจำนวนไม่น้อย อาจจะไม่ใช่คนส่วนทั้งหมด แต่เป็นส่วนปัญญาชน ที่ก่อการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มาแล้ว

ปัญญาชนจำนวนมากนี่แหละ กำลังเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของแกนนำนักเคลื่อนไหว

เพราะความผิดตามกฎหมายที่ว่า คือ คดีความคิดความเชื่อ ไม่ใช่เยาวชนที่ก่ออาชญากรรมปล้นฆ่าข่มขืนค้ายาเสพติด

นี่เป็นคดีทางการเมือง

หลักที่ทั่วโลกใช้คือ ต้องแก้ด้วยการเมือง ต้องถกเถียงต่อสู้หาทางออกกัน ไม่ใช่แก้ปัญหาเหมือนคดีอาชญา กรรมทั่วไป!

อีกทั้งที่ถูกขัง ก็ยังเพิ่งถูกสั่งฟ้องเพิ่งเริ่มต้นคดี ยังไม่ถึงขั้นมีคำพิพากษาให้จำคุกแล้ว

ขนาดคดีทั่วไป ศาลตัดสินว่าผิด ยังให้สิทธิประกันตัวมาสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์ ชั้นฎีกา

ดังนั้นการถูกคุมขังของผู้ต้องหาคดีการเมืองเหล่านี้ จึงเป็นปัญหาที่นับวันยิ่งบานปลาย ตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับเหล่าคนรุ่นใหม่หนักหน่วงเพิ่มขึ้น

ถึงเวลาโรคระบาดซาลงเมื่อไร น่าสงสัยว่าจะเกิดม็อบขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่!?!

เมื่อระบบกฎหมาย ระบบยุติธรรมมีปัญหา ฝ่ายรัฐที่ได้เปรียบจากกติกาเหล่านี้ อย่าได้ชี้หน้าบอกคนอื่นเลยว่า ก็อย่าทำผิดกฎหมายสิ

อีกทั้งหลายครั้ง ที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ก็เพราะมีคนจำนวนหนึ่งที่กล้าทำผิดกฎหมาย กล้าแหกกฎที่เป็นเครื่องมือของผู้เอารัดเอาเปรียบ

นักศึกษาที่นำประชาชนออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เบิกม่านสิทธิเสรีให้กับสังคมไทยเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 นั้น

ตอนเริ่มชุมนุมใหม่ๆ ฝ่ายรัฐบาลทหารที่เรียกภายหลังว่าทรราช ก็แข็งกร้าวไม่รับฟังข้อเรียกร้อง

ตอนนั้นก็คงมองว่า เด็กพวกนี้กำลังทำผิดกฎหมายนั่นแหละ!

วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน