รัฐธรรมนูญซ่อนเร้น อำนาจส.ว.ไม่แค่5ปี – การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ถกเถียงอภิปรายกันเมื่อวันสองวันที่ผ่านมา ได้ฟังความจากฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา ที่พยายามหาเหตุผลมาปกป้องอำนาจของตนเอง ไปจนถึงปกป้องรัฐธรรมนูญแล้ว รู้สึกขบขันในบางประเด็น

ประเด็นแรกมักอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ มี 16 ล้านเสียงเห็นชอบแล้ว

ความจริงประเด็นนี้ โดนโต้แย้งจนหมดความชอบธรรมไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

เพราะการทำประชามติ ที่จัดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นั้น ทำในยุครัฐบาลทหารคสช. มีอำนาจพิเศษควบคุมประชาชนทั่วด้าน

แถมใช้อำนาจปิดปากฝ่ายที่ออกมารณรงค์ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ

ฝ่ายรณรงค์ไม่เอารัฐธรรมนูญ ถูกจับกุมตัว ถูกดำเนินคดีมากถึงเกือบ 200 ราย

นี่คือความไม่ชอบธรรมอย่างชัดแจ้ง ไม่ยอมเปิดกว้างให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับฟังข้อมูลความเห็นจากทุกฝ่ายเสียก่อน!

ประการต่อมา การปกป้องอำนาจส.ว.ในการโหวตนายกฯ อ้างว่าเป็นแค่บทเฉพาะกาลในช่วง 5 ปีแรกเท่านั้น

ประเด็นนี้เอาแค่การตั้งคำถามในตอนลงประชามติ ก็พิรุธในการเขียนอย่างวกวนกำกวม

โดยเขียนว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ทำไมไม่เขียนง่ายๆ ว่า เห็นชอบหรือไม่ กับบทเฉพาะกาลที่ว่า ใน 5 ปีแรก ส.ว.มีส่วนร่วมให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายกฯ

ไม่เท่านั้นคำว่า 5 ปีแรก ก็เขียนอย่างซ่อนเร้น

ในเมื่อรัฐบาลชุดแรกมีวาระ 4 ปี ก็เท่ากับอำนาจ 250 ส.ว.โหวตนายกฯ ยังมีต่อไปในการตั้งรัฐบาลชุดต่อจากนั้น เพราะอำนาจนี้ยังอยู่ต่ออีกปีต่อมา

แปลให้ตรงๆ ก็คือ อำนาจส.ว.โหวตนายกฯ คลุมถึงการตั้งรัฐบาลอย่างน้อย 2 ชุด

ก็คืออำนาจ 8 ปีนั่นเอง!!!

นอกจากนั้นที่ส.ว.อภิปรายปกป้องอำนาจตนเอง ยังอ้างอีกว่า เสียงของส.ส.มีถึง 500 เสียง ถ้าเลือกนายกฯ อย่างเป็นเอกภาพ ก็เท่ากับเสียง 250 ส.ว.ไม่มีผลอะไร

แต่ข้อเท็จจริง เมื่อเขียนอำนาจ 250 ส.ว.อย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้ ก็กลายเป็นเหมือนอาวุธไปบังคับกลไกต่างๆ ในตอนเลือกตั้งว่า ต้องช่วยพรรคนี้เท่านั้น ได้เป็นนายกฯ ได้เป็นรัฐบาลแน่ เพราะมี 250 ส.ว.พร้อมโหวต เหนือกว่าอีกฝ่ายแน่นอน

ช่วงจัดตั้งรัฐบาล ก็เอาเสียงส.ว.เป็นอาวุธในการต้อนพรรคต่างๆ ให้มาร่วม เพราะมี 250 ส.ว.ตุนเอาไว้แล้ว

นี่จึงชัดเจนว่า อำนาจ 250 ส.ว. คือการเอารัดเอาเปรียบพรรคอื่น และเป็นเครื่องมือในการบังคับกดดันทุกกลไกและพรรคการเมืองให้ต้องมาร่วมขั้วนี้เท่านั้น

เป็นธรรมและชอบธรรมอย่างไร!!

วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน