เมืองไทย 25 น.

ทวี มีเงิน

กรณีของโตโยต้าไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนงานที่ต้องเข้าโครงการ“จากกันด้วยใจ” 900 คน แต่จะส่งผลกระทบไปถึง”ซัพพลายเออร์” ที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ป้อนให้อีกด้วย กำลังเป็นที่จับตาดูว่า อาจจะมีคนต้องโดนให้ออกจากงานตามมาอีกไม่น้อย

เหนือสิ่งอื่นใด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโตโยต้าค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 ของประเทศ ย่อมกระทบกับภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะ”ดีทรอยต์แห่งเอเชีย”อย่างมิอาจปฏิเสธ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระแสข่าวว่า โตโยต้า มีแผนตั้งโรงงานในมาเลเซียในปี2019

ถือเป็นข่าวไม่สู้ ดีนักกับอุตสาหกรรมรถยนต์บ้านเรา หลังจากก่อนหน้านี้บริษัทแม่ในญี่ปุ่นหลายๆ ค่ายได้ขยายการลงทุนในอินโดนีเซียจนเกรงกันว่า ในอนาคตจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์แห่งใหม่ แข่งกับ”ดีทรอยต์เอเชีย”บ้านเรา

จะว่าไปแล้ว อินโดฯได้เปรียบไทยตรงขนาด “ตลาดใหญ่” มีประชากรกว่า 200 ล้านคน เศรษฐกิจในประเทศก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ตลาดรถยนต์จึงมีโอกาสเติบโตอีกมาก

ส่วนมาเลเซีย มีประชากรน้อยกว่า แต่ได้เปรียบในเรื่อง “แรงงานทักษะ” มีมากกว่าไทย โดยเฉพาะวิศวกรมีคุณภาพและปริมาณมากกว่าในช่วงที่เศรษฐกิจฟองสบู่ บริษัทที่มีชื่อเสียงหลายรายที่คิดจะลงทุนในประเทศไทย ที่มีแค่สิทธิประโยชน์จูงใจตัดสินใจไปลงทุนในมาเลย์แทน เพราะมีแรงงานที่มีคุณภาพสูงกว่าและปริมาณเพียงพอป้อนให้กับธุรกิจที่เข้าไป ลงทุน โดยเฉพาะวิศวกร

ที่สำคัญเศรษฐกิจของมาเลเซีย จีดีพี ในทศวรรษนี้สูงกว่าไทยมาโดยตลอด รายได้ประชากรต่อหัวก็สูงกว่าไทย แม้จะมีน้อยกว่าก็ตาม

ที่สำคัญต้องไม่ปฏิเสธว่า น้ำท่วมใหญ่ในปี’54 เป็นปัจจัยทำให้นักลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่คิดจะขยายการลงทุนในไทยต้องคิดหนัก เพราะไม่มั่นใจแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไทย

ทุกวันนี้ก็ยังไม่คืบหน้า แม้ว่าบริษัทรถยนต์จะได้รับการชดเชยจากโครงการรถยนต์คันแรกแล้วก็ตาม กลับกลายเป็น “ดาบสองคม” เพราะทำให้ตลาดรถในประเทศถึงจุดอิ่มตัว ตลาดไม่โตไปกว่านี้

ทั้งหมดนี้ คือ ปัจจัยชี้ขาด ทำให้บริษัทรถยนต์ต้องกระจายความเสี่ยง ซึ่งส่งผลกระทบของภาพลักษณ์อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยอย่างมิอาจปฏิเสธได้

ยิ่งต้องมาเจอทั้งเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น มิหนำซ้ำยิ่งยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์บ้านเราต้องมาเจอวิกฤตอย่างนี้ ย่อมกระทบภาพลักษ์ดีทรอยต์แห่งเอเชีย อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน