คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์

สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในไตรมาส 3 ปี 2016 ขยายตัว 3.2%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า)

จีดีพีไตรมาส 3 เติบโตได้ต่อเนื่องจาก 2 ไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนที่สำคัญจากการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 3 เติบโตได้ที่ 3.5%YOY ขณะที่การส่งออกภาคบริการขยายตัวได้ที่ 14.7%YOY

อีไอซีปรับประมาณการจีดีพีปี 2016 เป็น 3.2% โดยมองว่าเศรษฐกิจเสี่ยงแผ่วปลาย

ปัจจัยบวกที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยโตได้เหนือความคาดหมายในช่วงที่ผ่านมา ทั้งยอดขายรถ การใช้จ่ายภาครัฐ และการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงที่จะอ่อนแรงลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

เนื่องจากมีปัจจัยกดดันสำคัญที่รออยู่ ได้แก่ ปัจจัยฐานสูงจากปีก่อนหน้าของทั้งยอดขายรถและการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงแรงกดดันต่อภาคการท่องเที่ยวจากการจัดการทัวร์ศูนย์เหรียญ และบรรยากาศการบริโภคในประเทศที่ซบเซาลง มองว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตช้าที่สุดในรอบปี

แม้ว่าการส่งออกสินค้าในไตรมาส 3 จะยังคงขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย แต่เราเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นจากการขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน (ส.ค.-ก.ย.) ในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นการเติบโตที่ครอบคลุมในหลายหมวดสินค้าสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่มีนัยสำคัญและเป็นสัญญาณบวกต่อการเติบโตในระยะต่อไป การเข้ามาส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคการส่งออกในช่วงต่อจากนี้จะสอดรับกับแรงขับเคลื่อนอื่นๆ ที่เริ่มชะลอลง และยังมีปัจจัยกดดันค่อนข้างมากในระยะข้างหน้า

มองว่าการเติบโตที่มีแรงส่งจากภาคการส่งออกนั้น น่าจะเป็นการกระตุ้นให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุน ซึ่งจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมมีความต่อเนื่องมากกว่าการหล่อเลี้ยงการเติบโตด้วยปัจจัยชั่วคราวอย่างในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกมีสิ่งที่ต้องจับตาคือ ความเสี่ยงภายนอกจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในยุโรปและสหรัฐ ที่เป็นไปในทิศทางของการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการค้าระหว่างประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน