คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก แต่การกำหนดราคายังคงต้องอิงไปกับปัจจัยในตลาดโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่าการอ่อนตัวของราคายางพาราของไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้รับแรงกดดันจากอิทธิพลหลายประการ อาทิ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างจีนที่ชะลอการขยายตัวอันกระทบต่อกำลังซื้อ ปริมาณผลผลิตยางพาราในตลาดที่ยังอยู่ในระดับสูง

ตลอดจนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มักแปรผันตามพัฒนาการของเศรษฐกิจหลัก ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดราคายางพารา ซึ่งการอ่อนค่าของราคายางพาราของไทยในปี 2559 น่าจะยังคงมีให้เห็นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 นับจากที่เคยสูงสุดในเดือนก.พ.2554 ที่ 190.3 บาท ต่อกิโลกรัม

โดยคาดว่าราคาส่งออกยางพาราของไทย (ยางแผ่นรมควันชั้น 3) ในปี 2559 อาจอยู่ที่ 53.0 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลง 2.2% (YoY) เทียบกับปี 2558 ที่ 54.2 บาทต่อกิโลกรัม ตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีนที่ยังเติบโตชะลอลง ประกอบกับอุปทานยางพาราที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2559 ราคาส่งออกยางพาราของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 54.7 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลง 5.8% (YoY)

สำหรับในปี 2560 มองว่าแนวโน้มราคาส่งออกยางพาราของไทย อาจให้ภาพที่กระเตื้องขึ้นได้บ้าง แต่ในภาพรวมก็นับว่ายังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งราคาอาจไม่กลับไปสูงดังเช่นในอดีต

โดยคาดว่า ในปี 2560 ราคาส่งออกยางพาราอาจอยู่ที่ราว 54-57 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 2.0-7.5% (YoY) เนื่องมาจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในตลาดโลกที่คาดว่าอาจขยับขึ้นไปอยู่ที่ราว 48 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ปี 2559 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 40.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล)

ขณะที่อุปสงค์ยางพาราจากจีนน่าจะยังมีไม่มากนัก และสต๊อกยางของจีน ผนวกกับอุปทานยางในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ราคาส่งออกยางพาราของไทยขยับขึ้นได้ไม่มากนัก

แม้แนวโน้มราคายางพาราของไทยจะให้ภาพที่ไม่สดใสนัก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกร แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปดาวเด่นของไทยคือ ยางล้อรถยนต์ ที่นับว่ามีแนวโน้มการส่งออกที่ดีตามการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก และถุงมือยางทางการแพทย์ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ท่ามกลางกระแสรักสุขภาพ และการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน