คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังคงสร้างแรงกดดันต่อการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารพอสมควร ส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการแต่ละรายต่างมีการปรับกลยุทธ์การตลาด และออกแคมเปญส่งเสริมการตลาดมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2559 เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอย และเป็นการประคับประคองยอดขายในภาพรวมของธุรกิจไว้

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยหนุนสำคัญที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับภาคธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และธุรกิจบริการ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2559 ได้แก่ มาตรการ “ช็อปช่วยชาติ 15,000 บาท”

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่ามาตรการช็อปช่วยชาติ 15,000 บาทในปี 2559 ค่อนข้างได้รับความสนใจจากประชาชนที่ต้องเสียภาษีมากกว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากประชาชนกว่า 60.0% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด มีการวางแผนที่จะซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 14-31 ธ.ค. 2559 เพื่อต้องการใช้สิทธิจากมาตรการดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว

โดยให้เหตุผลว่า ปีนี้มีการรับรู้ข่าวสารล่วงหน้า และด้วยระยะเวลาในการใช้สิทธิที่นานขึ้น (เป็นระยะเวลาเกือบ 3 สัปดาห์ จากเดิมปีที่แล้วเพียง 1 สัปดาห์) ทำให้มีเวลาเตรียมตัวและวางแผนการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่นานขึ้น

ซึ่งน่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนที่จะใช้สิทธิ ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ไม่ต้องเร่งรีบ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีระยะเวลาในการใช้จ่ายที่ค่อนข้างสั้นและกะทันหัน การเข้าแถวต่อคิวเพื่อรับใบกำกับภาษีที่น่าจะสะดวกรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องต่อคิวรอนาน

คาดว่าผลจากมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” ที่ออกมาในช่วงระหว่างวันที่ 14-31 ธ.ค.2559 (หรือเป็นจำนวน 18 วัน) น่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายซื้อสินค้าของประชาชนคิดเป็นเม็ดเงินที่กระจายไปสู่ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และธุรกิจบริการอื่นๆ ประมาณ 13,000 ล้านบาท

แบ่งเป็นการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกและบริการทั่วไปรวม 12,000 ล้านบาท และการรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร 1,000 ล้านบาท จากคนที่ต้องการใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษี อันเนื่องมาจากการขยายกรอบระยะเวลาในการซื้อสินค้าและบริการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน