คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

คาดว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 คนกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินเพื่อการ จับจ่ายใช้สอย ไม่ต่ำกว่า 28,500 ล้านบาท หรือขยายตัว 5.0% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่เติบโต 8.0%

ในปีนี้ภาคธุรกิจยังคงใช้เทศกาลปีใหม่ เป็นหนึ่งในอีเวนต์ที่เข้ามากระตุ้นยอดขาย แต่ลักษณะกิจกรรมที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของกิจกรรมรื่นเริง แต่อาจปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบรรยากาศในช่วงไว้อาลัย

โดยเม็ดเงินค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 แยกเป็นค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม 9,200 ล้านบาท รองลงมาคือท่องเที่ยว (เฉพาะค่าที่พักและค่าเดินทาง) 8,000 ล้านบาท ซื้อของขวัญ/ของฝาก 4,400 ล้านบาท การให้เงินพ่อแม่/พี่น้องเป็นของขวัญปีใหม่ 4,100 ล้านบาท และทำบุญ/ไหว้พระ 2,800 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ 5,400 บาท

จากการประกาศให้มีวันหยุดราชการในช่วงเทศกาลปีใหม่ยาวติดต่อกันถึง 4 วัน ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่ออกมากระตุ้นการจับจ่ายในช่วงปลายปี อย่างมาตรการช็อปช่วยชาติ และการให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้การจับจ่ายใช้สอยของ คนกรุง ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ไม่ซบเซามากนัก แม้ว่าปัจจัยทางด้านค่าครองชีพและบรรยากาศในช่วงไว้อาลัยจะส่งผลให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยแตกต่างไปจากทุกปีที่ผ่านมา

การเลือกซื้อของขวัญหรือกระเช้าปีใหม่ก็เปลี่ยนไปเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 และสินค้าที่เน้นช่วยเหลือสังคม กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจจากคนกรุง เพื่อมอบให้เป็นของขวัญสำหรับปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ระลึกที่จัดทำพิเศษเพื่อน้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ ธนบัตรหรือเหรียญที่ระลึก เป็นต้น

รวมไปถึงข้าวชาวนาที่คนกรุง หันมาเลือกเป็นของขวัญ/ของฝาก โดยถือเป็นการช่วยเหลือชาวนาจากปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำ

คาดว่ามูลค่าตลาดกระเช้าปีใหม่ ปี 2560 จะมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท

การทำความดีและช่วยเหลือสังคมที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้กิจกรรมการใช้จ่ายกระจายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ มากขึ้น ดังนั้น การทำกลยุทธ์การตลาดของผู้ประกอบการในปีนี้ อาจจะต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน