เมืองไทย 25 น.

ทวี มีเงิน

ขณะที่รัฐบาลแถลงโชว์ภูมิใจกับผลงานเศรษฐกิจในรอบ 2 ปีแต่ในวันรุ่งขึ้น “ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผอ.ศูนย์พยากรณ์ธุรกิจ เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทยได้แถลงตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” ปี 2559 พบว่ามูลค่าหนี้เฉลี่ย 2.48 แสนบาทต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.2% นับเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี

ขณะที่ “หนี้นอกระบบ” ลดลงต่ำสุดในรอบ 8 ปีจากเดิม 51.3% เหลือ 37.7% แต่อย่าได้แปลกใจหนี้นอกระบบลดลงเพราะรัฐบาลมีนโยบาย “ไมโครไฟแนนซ์” แปลงหนี้นอกระบบเอาเข้ามาอยู่ในระบบตัวเลขหนี้นอกระบบลดแต่มาโป่งที่หนี้ครัวเรือน

จากผลสำรวจจะเห็นว่าหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉพาะ 3-4 ปีหลังที่มีนโยบายรถคันแรกและบ้านหลังแรกและส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนในเครื่องจักรมากขึ้น แต่ในปีนี้ปัจจัยสำคัญ มาจากปัญหาเศรษฐกิจและภัยแล้งทำให้กำลังซื้อไม่มีสภาพคล่องตึงตัวและหนี้ครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 20%

สอดคล้องกับงานวิจัย “ดร.โสมรัศมิ์ จันทรรัตน์” หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า จนถึงมี.ค.ปีนี้คนไทยมีหนี้ครัวเรือนรวม 8.7 ล้าน ล้านบาท จำนวนคนกู้ยืม 16.05 ล้านคน หรือ 24% ประชากรทั้งประเทศ

น่าสนใจ คนไทย 24% มีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 544,074 บาท

หากดูการกระจุกตัวยิ่งน่าตกใจ ปรากฏว่าผู้มีหนี้ 10% แรก มีหนี้มากถึง 61.2% ของหนี้ครัวเรือนทั้งระบบส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในกทม.และปริมณฑล อย่างไรก็ตาม มูลหนี้ ครัวเรือนต่อผู้มีหนี้สูงสุดกลับไปอยู่ที่ภาคอีสานและหากคิดช่วงอายุจะเห็นว่าจะอยู่ระหว่าง 35-60 ปี มูลหนี้เฉลี่ย 20,000 บาท ต่อช่วงอายุ

คำถามคือ คนไทยเรามีหนี้เร็วไปหรือไม่ มีภาระหนี้นาน เกินไปหรือไม่ และผู้สูงอายุมีหนี้สูงเกินไปหรือไม่

จนถึงวันนี้ใครได้เห็นตัวเลขแล้วอย่าได้มองข้ามปัญหา “หนี้ครัวเรือน” โดยเด็ดขาด เพราะกำลังจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดและจะกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ที่ต้องใช้เวลานานในการ ถอดสลักถ้าไม่เร่งแก้ด่วน หากดูจากหนี้ต่อครัวเรือนแล้ว แทบจะเรียกว่าทุกวันนี้รายได้ต่อครัวเรือนที่ได้รับในแต่ละเดือน แทบไม่มีเหลือไว้สำหรับ “การออม” เพื่อไว้ใช้จ่ายในอนาคต เพราะรายได้ที่ได้มาแทบไม่พอจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไปกู้ยืมมา

ตราบใดที่ยังแก้หนี้ครัวเรือนไม่ได้ กำลังซื้อก็ไม่มี เศรษฐกิจจะฟื้นก็คงยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน