คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

คงต้องยอมรับว่าปี 2559 เป็นอีกปีหนึ่งที่ยากลำบากของธนาคารพาณิชย์ในการผลักดันผลการดำเนินงานและ สินเชื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายทางธุรกิจที่กำหนด ภายใต้โจทย์สำคัญคือการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และการช่วยเหลือลูกค้าในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ดังนั้น อัตราการเติบโตของสินเชื่อในปี 2559 จึงมีแนวโน้มที่จะปิดปีด้วยอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ มาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5% (เดิมคาดการณ์ที่ 4.0%) นับเป็นการชะลอตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 5

เมื่อมองต่อไปในปี 2560 แล้ว เชื่อว่าทิศทางการเติบโตของสินเชื่อคงปรับตัวดีขึ้นมาที่ประมาณ 4.0% (กรอบการเติบโต 3.0-5.0%) หรือเพิ่มขึ้นราว 3.4-5.6 แสนล้านบาท จากปี 2559 แม้จะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่เติบโตสูงกว่าเลขสองหลักก็ตาม

โดยการเติบโตของสินเชื่อที่ดีขึ้นในปี 2560 ดังกล่าว สะท้อนอานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน รายได้เกษตรที่ทยอยฟื้นตัว

โดยสินเชื่อรายย่อย นำการเติบโตของสินเชื่อรวม คาดการณ์ว่าสินเชื่อรายย่อยในปี 2560 จะมีเติบโตที่ 5.5% (กรอบคาดการณ์ 4.5-6.5%) ตามแรงหนุนสำคัญจากสินเชื่อเช่าซื้อที่คาดว่าจะพลิกจากโอกาสที่จะหดตัวเล็กน้อย หรือไม่มีอัตราการเติบโต (0%) ในปี 2559 มาบันทึกอัตราการเติบโตที่เป็นบวกเล็กน้อยประมาณ 3% ในปี 2560 โดยมีอานิสงส์ส่วนหนึ่งจากความต้องการซื้อยานยนต์เชิงพาณิชย์สอดรับกับการขยายตัวของการลงทุนและทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศน่าจะกลับมาอยู่ในแดนบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของสินเชื่อลูกค้ารายย่อยนั้น คาดว่าจะเห็นอัตราการเติบโตในระดับที่ไม่หนีไปจากภาพปี 2559 เนื่องจากยังไม่มีแรงหนุนพิเศษเพิ่มเติม

สินเชื่อธุรกิจเติบโตดีขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เชื่อว่าในปี 2560 จะมีหลายปัจจัยหนุนที่ช่วยให้สินเชื่อภาคธุรกิจเติบโตได้ดีขึ้นสู่ระดับ 2.0-4.0% (ค่ากลางที่ 3.0%) จากที่อาจทำได้เพียง 1.5% ในปี 2559

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการแข่งขันด้านราคาสำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อ น่าจะยังไม่รุนแรง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน