คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ประเมินผลกระทบน้ำท่วมภาคใต้ ตั้งแต่ 2 ม.ค.2560 ที่ผ่านมา กระทบกับพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวภาคใต้ น่าจะทำให้เม็ดเงินหายจากเศรษฐกิจภาคใต้ประมาณ 27,400 ล้านบาท

โดยชาวสวนยางพาราได้รับผลกระทบที่สุด ผลผลิตยาง ทั้งระบบลดลง 281,000 ตัน หรือ 6.3% ของปริมาณยางทั้งปีทั่วประเทศ คิดเป็นเม็ดเงิน 19,124 ล้านบาท

ด้านปาล์มน้ำมัน คาดผลผลิตลดลงกว่า 5 แสนตัน หรือ 4.8% ของปริมาณผลผลิตทั้งปีทั่วประเทศ มูลค่าประมาณ 2,939 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจค้าปุ๋ยและเคมีเกษตร เดือนม.ค.จะลดลงประมาณ 282 ล้านบาท

ส่วนฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญตามแนวชายฝั่งทะเลภาคใต้ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม คาดว่าทำให้ผลผลิตกุ้งลดลงกว่า 4,500 ตัน มูลค่าประมาณ 838 ล้านบาท

สำหรับเรือประมง โดยเฉพาะเรือขนาดเล็กยังถูกห้ามออกจากฝั่งเพราะลมมรสุมรุนแรง ทำให้สูญเสียโอกาสจากการขายปลาและสัตว์น้ำคิดเป็นมูลค่าประมาณ 751 ล้านบาท

แม้ว่าน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก แต่ก็กระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวเช่นกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวเกิดความไม่มั่นใจ บางส่วนอาจยกเลิก หรือชะลอการเดินทาง

ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านสนามบินต่างๆ และยอดเข้าพักแรมลดลง คิดเป็นการเสียโอกาสสร้างรายได้ประมาณ 3,533 ล้านบาท โดยเฉพาะจ.ภูเก็ต แม้ไม่มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม แต่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทาง ทำให้เสียโอกาสสร้างรายได้กว่า 1,200 ล้านบาท

หากเหตุการณ์น้ำท่วมคลี่คลายทั้งหมดก่อนเดือนก.พ. มูลค่าความเสียหายจะลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม หลังภาวะน้ำท่วมคาดว่าเศรษฐกิจภาคใต้จะ ฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว จากการเร่งใช้จ่ายเพื่อบูรณะฟื้นฟูของประชาชน การลงทุนปรับปรุงซ่อมแซมสาธารณูปโภคต่างๆ ของรัฐ รวมถึงราคายางพาราที่เพิ่มขึ้น

เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจขายสินค้าอุปโภค-บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ธุรกิจผู้รับเหมาก่อสร้าง อู่ซ่อมรถ อีกทั้งยังมีโอกาสทยอยระบายสต๊อกยางพาราของรัฐในช่วงที่ผลผลิต ลดลง

เรียกว่าฝันร้ายกำลังจะผ่านไป ข่าวดีก็ต่อคิวเข้ามาต่อเนื่องให้เศรษฐกิจภาคใต้ฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน