คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์

ราคายางพาราที่เพิ่มขึ้นในอดีตทำให้มีการปลูกยางพารามากขึ้น และส่งผลให้ปริมาณไม้ยางพาราของไทยโตขึ้นอย่างมาก คาดว่าในระยะกลางปริมาณไม้ยางพาราในประเทศจะเติบโตขึ้นราว 3% จาก 20 ล้านตันในปี 2016 เป็นราว 23 ล้านตันในปี 2020 โดยมีสาเหตุมาจากการปลูกยางพาราที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 1991-1995

สำหรับในระยะยาวนั้นคาดว่าปริมาณไม้ยางพาราจะเพิ่มขึ้นอีกกว่าราว 5% ต่อปี หรือคิดเป็น 35 ล้านตันในปี 2030 จากการปลูกยางพาราใหม่ในช่วงปี 2000-2005 แม้ว่าราคายางพาราได้เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2011 แต่การปลูกยางพาราใหม่ในแต่ละปีก็ยังค่อนข้างคงที่ เนื่องจากผลตอบแทนจากการปลูกยางยังสูงกว่าพืชเกษตรชนิดอื่น

ไม้ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยม โดยไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ซึ่งคิดเป็นกว่า 65% ของปริมาณไม้ยางพาราที่ผลิตได้ ไม้ยางพาราของไทยมีความสามารถในการแข่งขันทั้งในแง่คุณภาพและราคาเมื่อเทียบกับไม้เศรษฐกิจอื่น เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็งที่สามารถแปรรูปได้ง่าย อีกทั้งระดับราคาที่ไม่แพงนักและใกล้เคียงกับไม้ชนิดอื่น จึงมีความเหมาะสมกับการนำไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง

การส่งออกไม้ยางพาราของไทยไปยังจีนคาดว่าจะยังเติบโตขึ้นในอนาคตจากทั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอสังหาริมทรัพย์ในจีน รวมถึงการส่งออก จีนยังคงมีความต้องการนำเข้าไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2015 มีการนำเข้ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นกว่า 15%

สำหรับในระยะกลาง ความต้องการใช้ไม้ยางพาราของจีนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก เห็นได้จากยอดขายบ้านที่เพิ่มขึ้นราว 14% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นราว 9.6 ล้านล้านหยวนในปี 2016 ซึ่งจากยอดขายบ้านที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวคาดว่าจะสร้างความต้องการไม้ยางพาราเพื่อนำไปใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ และอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้าน

ในขณะเดียวกันการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้จากจีนไปยังประเทศต่างๆ ยังคงเติบโตได้ดี โดยที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกดังกล่าวเพิ่มขึ้นราว 13% ต่อปี

ทั้งนี้ มองว่าไทยมีศักยภาพที่จะหันมาเพิ่มสัดส่วนการผลิตเฟอร์นิเจอร์และสินค้าจากไม้ยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออก โดยภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ อีกทั้งผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการออกแบบและสร้างแบรนด์มากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน