คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

คงต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจสหรัฐ กำลังอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ โดยเฉพาะประเด็นการเมือง รวมทั้งนโยบายการค้า หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัย ดังกล่าว ผนวกกับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเด็นเสถียรภาพของจีน คงทำให้เฟดพิจารณาถึงจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้อย่างระมัดระวัง

คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะมีมติ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50-0.75% ในการประชุมรอบแรกของปี 2560 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์

มองไปข้างหน้ายังคงคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 1-2 ครั้งในปีนี้ โดยจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาส 2/2560 ภายใต้สถานการณ์ที่การดำเนินนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ ไม่ได้สร้างประเด็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษกิจอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า การใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐ เข้าใกล้ภาวะการจ้างงานเต็มศักยภาพ อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เครื่องชี้เงินเฟ้อที่เฟดติดตาม เร่งตัวเข้าใกล้ระดับ 2% ในจังหวะที่เร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็อาจสร้างความเสี่ยงให้เฟด ต้องส่งสัญญาณคุมเข้มมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้

สำหรับผลต่อไทยนั้น มองว่าปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศอาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินไทยเพิ่มขึ้น โดยแม้การส่งสัญญาณถึงการคงดอกเบี้ยของเฟดในช่วงนี้ น่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านการชะลอแรงกดดันต่อการปรับขึ้นของต้นทุนการเงิน ขณะเดียวกันก็อาจจะส่งผลให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ากลับมาบางส่วน

แต่คงต้องยอมรับว่า ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ข้างต้น อาจจะส่งผลให้ตลาดการเงินไทยผันผวนตามจังหวะของแต่ละเหตุการณ์ อันคงเป็นความท้าทายในช่วงต้นปีระกาที่ต้องรับมือแต่เนิ่นๆ

ไล่เรียงจากการเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในยุโรป โดยเฉพาะในช่วงที่สหราชอาณาจักรจะเริ่มกระบวนการออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในช่วงปลายไตรมาสที่ 1/2560 และสถานการณ์การไหลออกของเงินทุนในจีนที่อาจจะสร้างความกังวลรอบใหม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน