คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนธ.ค. 2559 พบว่า การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างล่าช้า ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงแหล่งระดมเงินของภาครัฐ ส่งผลให้สินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2559 เติบโตในอัตราชะลอลงมาที่ 1.26% เทียบกับปี 2558 ที่ทำได้ 3.43% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี

ส่วนเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นปี 2559 ขยายตัวในระดับเดียวกับปีก่อนหน้าที่ 1.46% YoY ขณะที่สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในปี 2559 ตึงตัวขึ้นเทียบกับปีก่อนหน้า

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อ-เงินฝากปี 2560 พ้นจุดต่ำสุด ด้วยแรงหนุนจากรายย่อย

คาดว่า ทิศทางการเติบโตของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2560 คง ปรับตัวดีขึ้นได้ที่ 4.0% (กรอบคาดการณ์ 3.0-5.0%) หรือเพิ่มขึ้นราว 3.4-5.6 แสนล้านบาท จากปี 2559

รวมถึงสินเชื่อรายย่อยที่คาดว่าจะเป็นตัวนำการเติบโตของสินเชื่อรวมด้วยเช่นกัน ด้วยอัตราเติบโตประมาณ 5.5% (กรอบ คาดการณ์ 4.5-6.5%) ตามแรงหนุนสำคัญจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะยังโตได้ดีที่ระดับประมาณ 7.0% เท่ากับปีก่อนหน้า และสินเชื่อเช่าซื้อที่คาดว่าจะพลิกกลับมาอยู่ในแดนบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังผลของโครงการรถคันแรกทยอยลดบทบาทลง 0

แนวโน้มเงินฝากนั้น คาดว่าการแข่งขันระดมเงินฝากจะเริ่มกลับมาเข้มข้นขึ้นใน ปีนี้ โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2560 เนื่องจากอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากและตั๋วแลกเงิน (LTD+B/E) ซึ่งเป็นเครื่องชี้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มไต่ระดับขึ้นต่อเนื่องและอยู่ในระดับค่อนข้างสูง

ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกเริ่มกลับสู่ขาขึ้น หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ในช่วงท้ายปี 2559 และยังมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นต่อในปี 2560 ซึ่งคงสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการระดมทุนของธนาคารพาณิชย์และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน

ดังนั้น ในปี 2560 นี้ จึงถือเป็นจังหวะอันดีของผู้บริโภคที่จะได้รับผลตอบแทนจากเงินออม โดยเฉพาะเงินฝากพิเศษที่คงขยับตัวสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินไทย ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับตลาดการเงินโลก

ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้อาจยังไม่เปลี่ยน แปลงไปจากปัจจุบัน ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อและเพิ่มทางเลือกในการออมให้กับลูกค้า โดยผู้บริโภคอาจจะพิจารณาจัดสรรเงินออมและวางแผนการเงินไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนและการออมในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน