คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับตัว ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 44.0 ในเดือนม.ค.2560 จากเดิมที่ระดับ 44.3 ในเดือนธ.ค.2559 สะท้อนความกังวลของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพในปัจจุบันที่มากขึ้น

โดยในเดือนที่ผ่านมา ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นในประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า ประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน ในขณะเดียวกันครัวเรือนมีความกังวลลดลงในประเด็นเรื่องรายได้และเงินออม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราค่าจ้างแรงงาน มีฝีมือของลูกจ้าง รวมถึงเป็นช่วงของการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีและการรับเงินตอบแทนพิเศษ (Bonus) ของพนักงานประจำ

ในขณะที่ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) พลิกกลับมาปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ระดับ 44.5 ในเดือนม.ค.2560 จากเดิมที่ระดับ 45.6 ในเดือนธ.ค.2559 สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนเริ่มเป็นกังวลมากขึ้นต่อภาวะการครองชีพในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า ค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน ซึ่งมุมมองที่มีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นอาจจะเป็นแรงกดดันต่อภาพการบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้า

มองว่าความเชื่อมั่นของครัวเรือนในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าจะเริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผลจากปัจจัยทางฤดูกาลและปัจจัยชั่วคราวสิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามในประเด็นเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่คาดว่าจะผันผวนตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

โดยสรุปความเชื่อมั่นของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลง โดยครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นในประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า ค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน ในขณะเดียวกันครัวเรือนก็มีมุมมองต่อประเด็นเรื่องรายได้และเงินออมในภาพบวกมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนก.พ.2560 ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบซึ่งคาดว่าจะมีการปรับตัวตามความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน