คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics

ปี 2559 สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโตได้เพียง 2% ต่ำกว่าคาดไว้ที่ 3% โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ยังปรับตัวสูงขึ้นไปที่ 2.83% คิดเป็นมูลค่า 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2556 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอยู่ที่ 1.50% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2552

อีกทั้งในปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์จะยังคงลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง MLR และ MRR ลงอีก 0.25% เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้าจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ก็มิอาจกระตุ้นให้การเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยต่ำเพียงอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้สินเชื่อกลับมาทะยานได้ แต่หากจำเป็นที่จะต้องใช้อีก 4 ปัจจัยเพิ่มเติมมาช่วยขับเคลื่อนให้สินเชื่อกลับมาเติบโตได้ในปี 2560 นี้ ได้แก่

1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐซึ่งจะขับเคลื่อนสินเชื่อธุรกิจ

2.การท่องเที่ยวและบริการ 3.กำลังซื้อของผู้บริโภคและรายได้การเกษตร และ 4.การปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้

ด้วยปัจจัยดังกล่าว คาดว่าสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์จะทะยานกลับมาเติบโตได้ในระดับสูงที่ 6.3% ได้อีกครั้ง โดยสินเชื่อภาคธุรกิจเติบโต 6.0% ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยจะกลับมาเติบโตได้ที่ 7.1%

ถึงแม้สินเชื่อจะกลับมาเติบโตได้ดี คุณภาพสินเชื่ออาจจะต้องถูกเฝ้าระวัง โดย NPL ซึ่งเป็นลมต้านจะยังคงปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวเมื่อประมาณช่วงปี 2557 และ 2558 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 0.7% และ 2.8% ตามลำดับ

จากผลการศึกษาพบว่า หลังจากที่วัฏจักรเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดแล้ว วัฏจักร NPL จะใช้เวลาประมาณ 18 เดือนจะแตะจุดสูงสุด ซึ่งคาดว่า NPL น่าจะสูงสุดในช่วงประมาณไตรมาส 2 ของปีนี้ ที่ระดับ 3% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.2 แสนล้านบาท

จากนั้นจะทยอยปรับตัวดีขึ้นจนขยับลงมาอยู่ที่ระดับ 2.7% ในช่วงสิ้นปี หลังจากนั้น วัฏจักรของ NPL จะอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งจะส่งผลดี ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมธนาคารเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน