คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินมูลค่าพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 อันดับแรก คือข้าว ยางพารา อ้อยโรงงาน มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน พบว่าปี 2560 มีมูลค่ารวมกว่า 7.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.5 หมื่นล้านบาท

โดยมูลค่าผลผลิตที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นมาจากราคายางพาราและอ้อยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการและราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

คาดว่าราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบเฉลี่ย ปี 2560 จะอยู่ที่ประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 24% ทำให้มูลค่าผลผลิตยางปีนี้เพิ่มขึ้น 3.5 หมื่นล้านบาท แม้ว่าปริมาณผลผลิตจะลดลง 6% เนื่องจากน้ำท่วมพื้นที่ปลูก ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่ราคาอ้อยได้รับผลบวกจากราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกที่ตึงตัว ผลักดันราคารับซื้ออ้อยจากเกษตรกรในประเทศเพิ่มขึ้น 30% เทียบกับราคารับซื้อปีก่อน สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย เกือบ 3 หมื่นล้านบาท

ด้านข้าว คาดว่าราคาจะอ่อนตัวลงอีกเล็กน้อย เนื่องจากปี 2560 ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากชาวนา ไม่ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับผลผลิตของแหล่งผลิตข้าวสำคัญทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จึงทำให้ราคาและปริมาณส่งออกข้าวของไทยชะลอตัว ขณะที่สต๊อกของรัฐบาลยังคงกดดันราคาข้าวในปีนี้ ทำให้มูลค่าผลผลิตข้าวที่ชาวนาได้รับเพิ่มขึ้น 1 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับมูลค่าผลผลิตปี 2559

ส่วนมันสำปะหลังราคาชะลอต่อเนื่องในปีนี้ โดยคาดว่าราคามันสดเฉลี่ยทั้งปีจะชะลอตัวลง 18% เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์มันฯ ของประเทศจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญลดลง ทำให้มูลค่าผลผลิตมันสดที่เกษตรกรชาวไร่มันฯ ขายได้ลดลง 1.2 หมื่นล้านบาท

เม็ดเงินจากมูลค่าผลผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็น ผู้ผลิตและบริโภคกลุ่มสำคัญของเศรษฐกิจภูมิภาค มีกำลังซื้อสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ

กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร จะส่งผลดีต่อธุรกิจ เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจค้าปุ๋ยและเคมีเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร อีกด้านหนึ่งเกษตรกรจะมีกำลังจับจ่ายใช้สอย เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งสินค้าอุปโภค บริโภค วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน