เมืองไทย 25 น.

ทวี มีเงิน

สิ้นเดือนก.ย.ผ่านพ้นไปแล้ว กำหนดการเดิมโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช จะต้องตอกเสาเข็ม แต่วันนี้ย่างเข้าเดือนต.ค.แล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า น่าแปลกใจว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังการถ่ายทำหรือไม่

ที่สำคัญอะไรๆ ที่ไม่เคยรู้ก็เริ่มโผล่ขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งที่ “สุวิชญ โรจนวานิช” ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะกระทรวงการคลัง เคยออกมาเปิดเผยข้อมูลอีกด้านอย่างน่าสนใจ โดยบอกว่าเดือนก.ย.นี้จีนจะเริ่มลงทุนก่อสร้างเส้นทางระยะ 3.5 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ไปโคราช เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่าโครงการดังกล่าวลงทุนจริง โดยฝ่ายจีนกำลังจะนำสัญญาลงทุนมาให้ฝ่ายไทยตรวจสอบ

จนป่านนี้ก็ยังไม่เห็นวี่แวว

ขณะที่เบื้องลึกจริงๆ “สาระหลักๆ” อีกหลายประเด็นที่ไม่ได้ข้อสรุป ยังคงถกเถียงกันไม่ลงตัว

ประเด็นแรก ฝ่ายจีนต้องการให้ “ขนได้ทั้งคนและสินค้า” ส่วนฝ่ายไทยต้องการขนเฉพาะคนเท่านั้น เพราะกังวลว่าหากเป็นตามที่จีนเสนอจะมีผลต่องบฯ ลงทุนบานปลาย

ส่วนจีนอยากให้ขนสินค้าได้ด้วยเพราะมียุทธศาสตร์ที่จะให้สินค้าของจีนสามารถขนออกทะเลโดยผ่านเส้นทางของไทย และจีนคิดว่าจะเป็นผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงในภูมิภาค

เรื่องนี้ต้องถามกลับว่าหากจะขนคนอย่างเดียวตามที่ฝ่ายไทยเสนอจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการคุ้มกับงบฯ ที่ลงทุนหรือไม่ ขณะเดียวกันหากจีนยืนยันจะขนสินค้าลงทะเลโดยผ่านไทยแสดงว่าจีนก็มีความจำเป็นต้องให้โครงการนี้เกิดให้ได้

ตรงนี้ถามว่า…ทำไมฝ่ายไทยไม่เอาข้อได้เปรียบนี้ใช้เป็นเครื่องมือ “ต่อรอง” จีนให้ร่วมลงทุนโดยถือหุ้นใหญ่ แต่กลายเป็นว่าไทยลงทุนฝ่ายเดียวแต่จีนกลับเป็นฝ่ายได้ประโยชน์

ประเด็นต่อมา “เงินลงทุน” ก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้ “หยวน” หรือ “ดอลลาร์” จีนอยากให้ใช้เงินหยวน แต่ไทยอยากใช้ดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้บริหารจัดการความเสี่ยงได้ง่าย และเร็วกว่า เพราะคุ้นเคยมากกว่าหยวน

ส่วน “อัตราดอกเบี้ย” ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ฝ่ายไทยต้องการ 2% อ้างว่าต้องใช้ผู้ประกอบการจากจีนทั้งหมดอยู่แล้ว ฝ่ายจีนก็ยืนยันที่ 2.5-2.6% เรียกว่าเงินทุกเม็ดไม่ยอมให้กระเด็นไปไหน

ไทยอยากได้ราคามิตรภาพ แต่จีนกลับสะกดคำนี้ไม่เป็น

อย่างที่รู้ว่าไทยกับจีนเจรจากันมาทั้ง 14 รอบ ยังไปไม่ถึงไหน จะลงเอยได้อาจจะถึงรอบที่ 20 ถึงตอนนั้นไม่รู้ว่างบฯ ก่อสร้างจะบานท่าไหร่

น้ำลดตอจะผุดอีกหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน