คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์

มูลค่าการส่งออกไทยเดือนมี.ค. ขยายตัวกว่า 9.2%YOY จากการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกที่ครอบคลุมในหลายหมวดมากขึ้น และเติบโดได้ดีในเกือบทุกตลาดส่งออก

การส่งออกถูกขับเคลื่อนโดยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน และสินค้าอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเติบโตสูงที่สุดในรอบกว่า 4 ปี

มูลค่าการนำเข้าเติบโตสูงต่อเนื่องที่ 19.3%YOY จากการ นำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวกว่า 71.9%YOY และการ นำเข้าสินค้าทุน ที่เติบโต 5.8%YOY จากการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกล และส่วนประกอบ

มูลค่าการส่งออกไทยในไตรมาสแรกที่เติบโตกว่า 4.9%YOY ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมัน และภาคอุตสาหกรรมโลกที่ฟื้นตัวเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ยังคงคาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปี 2017 จะขยายตัวเพียง 1.5% เนื่องจากอัตราการขยายตัวของราคาน้ำมัน มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป

ประกอบกับนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ เริ่มตึงเครียดมากขึ้น จากประเด็นที่ไทยเป็น 1 ใน 16 ประเทศ คู่ค้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกคำสั่งตรวจสอบและหามาตรการเพื่อลดการขาดดุลการค้า

ทั้งนี้ มองว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป และกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบ คือ 1.กลุ่มสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ อาหารปรุงแต่ง ถุงมือยาง

2.กลุ่มสินค้าที่เป็นเหตุให้สหรัฐขาดดุล เช่น คอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ และ 3.สินค้าเกษตรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น ข้าว

คาดว่ามูลค่าการนำเข้ารวมในปี 2017 จะขยายตัวที่ 3.5%YOY จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่อาจเริ่มทรงตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และการลงทุนของผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบพื้นฐานสำหรับการลงทุนที่พลิกกลับมาเป็นบวกในเดือนนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องหรือไม่

อีกทั้งการนำเข้าสินค้าทุนในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาจเติบโตสูงกว่าที่คาดตาม แนวโน้มการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวที่เติบโตต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน