วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่กำลังศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2560 จำนวน 500 คน ครอบคลุมสาขาอาชีพหลัก และระดับรายได้ ระหว่างวันที่ 17-28 เม.ย. 2560

ผลสำรวจที่สำคัญมีดังนี้ ผลสำรวจด้านมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 70% มองว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะทรงตัวถึงดีขึ้น เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ของปีที่ผ่านมา

ประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานสามารถวางแผนล่วงหน้า ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่าง 62% ไม่กังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงิน และไม่ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านดังกล่าวลง

โดยแหล่งที่มาของค่าใช้จ่าย 80% มาจากเงินเก็บออม รองลงมาเป็นการยืมญาติหรือเพื่อน 46% ในขณะที่การใช้บริการสถาบันทางการเงินได้รับความนิยมจากผู้ปกครองรองลงมา

โดยคิดเป็นเม็ดเงินสะพัด 27,000 ล้านบาท ขยายตัว 4% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นค่าเทอม 12,900 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าเทอม (เช่น ค่าบำรุงการศึกษา) 4,500 ล้านบาท ค่ากิจกรรมพิเศษในโรงเรียน 4,200 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าชุดนักเรียน หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนกวดวิชา ค่าเรียนเสริมทักษะ 5,400 ล้านบาท

ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างอีก 38% กังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงิน โดยส่วนใหญ่ปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน หารายได้เสริมเพิ่ม รวมถึงหาซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา

รวมทั้งพบว่าจากรายได้ในแต่ละเดือน กลุ่มตัวอย่างจัดสรรค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวันสูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 39% ของรายได้ในแต่ละเดือน รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน คิดเป็น 18% และเป็นการชำระหนี้สิน คิดเป็นสัดส่วน 9%

ทั้งนี้ การจัดสรรค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานให้อยู่ในลำดับต้นๆ สะท้อนว่ากลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลานเป็นรายจ่ายที่จำเป็น

นอกจากนี้ ยังพบว่า ค่านิยมของผู้ปกครองส่วนใหญ่ ยังเลือกให้บุตรหลานศึกษาในโรงเรียนที่มีความเข้มข้นทางวิชาการและหลักสูตรการเรียนการสอน ที่มีอัตราการแข่งขันสมัครสอบเข้าในระดับสูง รวมทั้งในส่วนของโรงเรียน เสริมทักษะ เช่น ดนตรี กีฬา เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน