คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.3% โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวกว่า 3.2% ซึ่งมาจากการเติบโตของการบริโภคสินค้าคงทนเป็นหลัก รายได้ภาคเกษตรขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 21% อีกทั้งภาระหนี้ของผู้ซื้อรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกก็เริ่มทยอยหมดลงในปีนี้

นอกจากนี้ การส่งออกในไตรมาสแรกก็ขยายตัวได้กว่า 4.9% และมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลก ที่ฟื้นตัว

ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนกลับหดตัวกว่า 1.1% จากที่หดตัวต่อเนื่องกัน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2013 แต่มองว่าการลงทุนภาคเอกชนจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ในปีนี้ โดยมีการ ขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนภาครัฐเป็นแรงหนุนสำคัญ โดยการส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 3.7%

อีกทั้งการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนจากงบเพิ่มเติมกลางปีและเมกะโปรเจ็กต์อีกราว 4 แสนล้านบาทที่จะถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบในปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ได้รับอนุมัติ BOI แล้วในปี ที่ผ่านมา มูลค่ารวมกว่า 8.6 แสนล้านบาท ทำให้คาดว่าปีนี้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ 1.7%

ดังนั้น การคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำจึงยังจำเป็นอยู่ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในปีนี้

นอกจากนี้ แรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยไตรมาสแรกเฉลี่ยเพียง 1.25% ซึ่งยังต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ธปท. ที่ 2.5% โดยคาดเงินเฟ้อจะเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.7% สอดคล้องกับคาดการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ ณ สิ้นปี 2017 จะยืนที่ 57 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้อีก 2 ครั้งในเดือนมิ.ย.และธ.ค.ในปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ยเฟดแตะขอบบนของช่วง 1.25-1.5% ซึ่งจะเท่ากับดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.5%

อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 ดอกเบี้ยไทยจะเริ่มถูกกดดันจากดอกเบี้ยเฟดที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฟดมองว่า จะปรับดอกเบี้ยขึ้นไปที่ 2.00-2.25% ณ สิ้นปี 2018

ดังนั้น คาดว่า ธปท. จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไทยใน ปีหน้า โดย ณ สิ้นปี 2018 จะอยู่ที่ 2% จากเศรษฐกิจไทย ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน