คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ปัจจุบัน คนไทยบริโภคเกลือต่อวันมากกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการถึง 2 เท่า โดยแหล่งที่มาของเกลือที่เกินมาตรฐานมาจากอาหารสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป) ขนมขบเคี้ยว (ปลาเส้น มันฝรั่งทอด และสาหร่ายทอด) เครื่องปรุงรส

รวมไปถึงพฤติกรรมการกินอาหาร ของคนไทยที่มักจะปรุงรสเพิ่มในอาหาร ที่ผ่านการปรุงแต่งด้วยวัตถุดิบและเครื่องปรุงรสที่มีเกลือในปริมาณมากไปแล้ว

ส่งผลให้กลไกในร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จนทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง และนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคไต โรค เบาหวาน รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมากตามมา สะท้อนผ่านจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคไตและโรคเบาหวาน ที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากปี 2552 จำนวน 11.5 ล้านคน 7.1 ล้านคน และ 3.5 ล้านคน เป็น 13 ล้านคน 8 ล้านคน และ 5 ล้านคน ในปี 2559 ตามลำดับ

ส่งผลต่อเนื่องให้งบประมาณการรักษาพยาบาลในปี 2559 เพิ่มขึ้นตามเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 120,000 ล้านบาท

ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดในการนำมาตรการปรับสูตรอาหารมาปรับใช้ในกระบวนการผลิตของ ผู้ประกอบการ และอาจออกกฎหมายควบคุมปริมาณเกลือที่เหมาะสมในอาหารแต่ละชนิด รวมถึงการเก็บภาษีการใช้เกลือเกินปริมาณที่เหมา สมในระยะต่อไป

คาดว่าหากมีการปรับสูตรอาหารด้วยการลดปริมาณการใช้เกลือลง 10% น่าจะมีผลทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการผลิตอาหารที่มีการใช้เกลือในปริมาณสูง ของไทยเพิ่มขึ้นจากการใช้สารทดแทนเกลือประมาณ 1.4% ต่อปี หรือคิดเป็น 1,500 ล้านบาทต่อปี จากมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมอาหารที่มีเกลือสูง ที่มีมูลค่ามากกว่า 107,000 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ดี จากกระแสใส่ใจสุขภาพ ผนวกกับความจำเป็นในการรับประทานอาหารที่มีเกลือน้อยของผู้ป่วยโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง น่าจะเป็นโอกาสให้แก่ ผู้ประกอบการคิดค้นและนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่มีการลดปริมาณเกลือหรือใช้เกลือปริมาณน้อยออกสู่ตลาด

ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าแล้ว ยังสอดรับกับมาตรการควบคุมการบริโภคเกลือของภาครัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน