เมืองไทย 25 น.

ทวี มีเงิน

คดีความฟ้องร้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายสูงที่สุดในประวัติ ศาสตร์คดีเศรษฐกิจของไทย ปิดฉากลง เมื่อศาลฎีกาได้ยกฟ้อง “เริงชัย มะระกานนท์” อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติไม่ผิดในกรณีที่นำทุนสำรองปกป้องค่าเงินบาทในปี”40 จนเป็นต้นเหตุวิกฤตต้มยำกุ้ง

ศาลฎีกามีคำพิพากษายืน ตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโดยเห็นว่า การกระทำของนายเริงชัยไม่ได้เป็นการกระทำ “ละเมิด” และไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย กว่า 1.8 แสนล้านบาท

คดีนี้ได้ให้บทเรียนต่างๆ มากมาย เฉพาะอย่างยิ่งการ “จัดวางคนให้เหมาะกับงาน” ยิ่งงานที่มีความสำคัญกับชาติบ้านเมืองกรณีนายเริงชัยไม่ใช่การทุจริตและไม่ใช่ไม่ทำงาน ตรงข้าม กลับทำงานหนักมาก แต่ “เกาไม่ถูกที่คัน” เพราะไม่มีความรู้พอ จะรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น

สะท้อนจากบันทึกของ “ศปร.” ระบุว่า อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นความโชคร้ายของ “นายเริงชัย มะระกานนท์” ขึ้นเป็นผู้ว่าฯแบงก์ชาติในช่วงที่วิกฤตการเงินเริ่มก่อตัว จนกลายเป็นวิกฤตร้ายแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เริงชัยยอมรับว่าตัวเองไม่มีความรู้ ความชำนาญในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งรวมถึงนโยบายการเงินระหว่างประเทศด้วย ระหว่างที่ วิจิตร (วิจิตร สุพินิจ) เป็นผู้ว่าการ นายเริงชัยได้รับมอบหมายให้ดูแลโรงพิมพ์พันธบัตร สายงานธุรการและฝ่ายการธนาคาร ดังนั้นนายเริงชัยจึงด้อยประสบการณ์และความรอบรู้ในนโยบายแลกเปลี่ยนและตลาดเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับผู้รับผิดชอบด้านการเงินของประเทศ

บันทึกยังระบุเพิ่มเติมว่า “จากปากคำชี้แจงของพนักงานระดับสูงของธปท.หลายคนที่มาให้ปากคำ ศปร. เริงชัยเป็นบุคคลที่ขาดการเป็นผู้นำที่ดีและวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ชอบให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่ตรงกับความคิดเห็นของตน ซึ่งเป็นมาตั้งแต่สมัยนายวิจิตร ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในทิศทางที่ไม่ตรงกับความคิดเห็นของนายเริงชัยด้วย ทำให้นายเริงชัยไม่อาจได้รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย เพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญการทำงานในสภาวะดังกล่าวผิดพลาดได้ง่าย”

นี่คือ บทเรียนที่มีรายจ่ายสูงลิ่ว อย่างไรก็ตาม จะชี้นิ้วตำหนิเริงชัยคนเดียวไม่ได้ คงตำหนิคนแต่งตั้งว่าตั้งในรัฐบาลไหนใครเป็นนายกฯ

ทั้งนี้ คงเป็นอุทาหรณ์ในการแต่งตั้งหรือเลือกใครก็ตาม ไม่ว่าระดับเจ้าหน้าที่หรือผู้นำประเทศ หากความรู้ไม่พอ ย่อมสร้างความเสียหายได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน