จุดต่ำสุดผ่านไปแล้ว

คอลัมน์วงล้อเศรษฐกิจ

จุดต่ำสุดผ่านไปแล้ว – ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด ในเดือนมิ.ย. 2563 อยู่ที่ระดับ 36.0 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนพ.ค. 2563 ที่อยู่ในระดับ 36.1

โดยในเดือนที่ผ่านมา ภาครัฐมีมาตรการผ่อนปรนเพิ่มเติมสำหรับกิจกรรมและกิจการในกลุ่มสีเหลือง (ระยะที่ 3) และกลุ่มสีแดง (ระยะที่ 4) รวมถึงยกเลิกประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (ยกเลิกเคอร์ฟิว) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการตามปกติ ส่งผลให้รายได้และภาวะการจ้างงานของครัวเรือนไทยทยอยปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. 2563

แต่ในขณะเดียวกัน ครัวเรือนไทยมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย. 2563 จากระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าสาธารณูปโภค อีกทั้งครัวเรือนบางส่วนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลานก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ในวันที่ 1 ก.ค. 2563

ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของ ครัวเรือนไทยอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) อยู่ที่ระดับ 37.4 ในการสำรวจช่วงเดือนมิ.ย. 2563 ปรับตัว ดีขึ้นจากระดับ 35.9 ในการสำรวจช่วงเดือนพ.ค. 2563 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า อยู่ในระดับสูงกว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนมองว่าจุดต่ำสุดผ่านไปแล้ว และมองภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2563 จะทยอยปรับตัวดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ยังคงมีความเปราะบางอยู่มาก แม้ภาครัฐจะมีมาตรการผ่อนปรนสำหรับทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังต้องอาศัยระยะเวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังรุนแรงในต่างประเทศ จึงเป็นโจทย์สำคัญของภาครัฐในการเร่งฟื้นฟูและประคับประคองภาคธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีส่วนสำคัญต่อการจ้างงานในประเทศและพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนไทย

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมาตรการภาครัฐที่อาจจะมีเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ที่กำลังจะสิ้นสุดโครงการลงในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน