วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (ไม่มีหลักประกัน) จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนก.ย. 2560 เป็นต้นไป

เพื่อดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ (เจนวาย) หรือกลุ่มที่มีรายได้ไม่มากนักซึ่งมีความเปราะบาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาวตามมา

เกณฑ์ใหม่เพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล โดยเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิต จากเดิมไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน เป็นลักษณะขั้นบันไดตั้งแต่ 1.5-5 เท่าของรายได้ต่อสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตลงมาที่ 18% ต่อปี จากเดิมที่ 20% ต่อปี

ขณะที่ในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น มีการเพิ่มข้อกำหนดแก่กลุ่มลูกค้ารายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ที่จะได้รับวงเงินสินเชื่อบุคคลจากผู้ประกอบการไม่เกิน 3 ราย หรือคิดเป็นเพดานวงเงินจากผู้ประกอบการทุกรายรวมกันไม่เกิน 4.5 เท่า

สำหรับผลกระทบในระยะสั้นนั้น การปรับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลง 2% อาจส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยของผู้ประกอบการทั้งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ลดลงประมาณ 750-900 ล้านบาท ซึ่งสำหรับเฉพาะส่วนของธนาคารพาณิชย์ จะคิดเป็นประมาณ 0.3% ของรายได้ดอกเบี้ยรวม

ขณะที่ผลกระทบในทางปฏิบัติอื่นๆ นั้น คาดว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากเกณฑ์จะบังคับใช้เฉพาะกับลูกค้าใหม่เท่าและให้ระยะเวลาในการปรับตัว

อีกทั้งในปัจจุบัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มีการอนุมัติเพดานสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในกรอบที่ไม่หนีไปจากเกณฑ์ใหม่ของ ธปท. อยู่แล้ว

โดยยังมองประมาณการอัตราการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลของระบบ (ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์) ไว้ที่ 4.0% (กรอบ 3.0-5.0%) ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวของปี 2559 ที่ 4.6%

ขณะที่ให้ประมาณการการขยายตัวของสินเชื่อบัตรเครดิตของระบบไว้ที่ 6.0% (กรอบ 5.0-7.0%) เทียบกับตัวเลขทบทวนใหม่ของปี 2559 ที่ 8.0%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน