“บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด”

ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่รายได้ครัวเรือนที่ไม่ปรับเพิ่มขึ้นหรือบางกลุ่มมีรายได้ลดลง ส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลต่อประเด็นเรื่องค่าครองชีพ

จากการสำรวจมุมมองภาวะการครองชีพของครัวเรือน พบว่า 53% ของครัวเรือนทั้งหมดที่ทำการสำรวจมีความกังวลต่อประเด็นค่าครองชีพเป็นอันดับแรกในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ตามมาด้วยประเด็นเรื่อง “หนี้สิน” และ “รายได้” ที่ให้น้ำหนักความสำคัญมาเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ

หากแบ่งตามกลุ่มรายได้ จะพบว่า ครัวเรือนกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 15,000 บาท/เดือน มีความกังวลเรื่องรายได้มากกว่าเรื่องภาระหนี้สิน ในทางกลับกัน ครัวเรือนกลุ่มผู้มี รายได้สูงกว่า 15,000 บาท/เดือน จะกังวลเรื่องปัญหาหนี้สินมากกว่าปัญหาเรื่องรายได้

สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของครัวเรือนในเดือนก.ค. 2560 ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งมาจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า

รวมถึงประเด็นเรื่องรายได้และภาวะการมีงานทำที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้ครัวเรือน ที่ประกอบกิจการส่วนตัวพยายามที่จะปรับตัวทางธุรกิจ ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจส่งผลให้กระบวนการผลิตหยุดชะงักและส่งผลต่อรายได้ที่เข้ามา

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของครัวเรือนในปัจจุบันที่ปรับตัวลดลงยังส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลต่อภาวะการครองชีพในอนาคตเพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากความกังวลที่เพิ่มขึ้นในเรื่องหนี้สินและราคาสินค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาสินค้าสาธารณูปโภค อาทิ การปรับขึ้นค่าไฟอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) อีก 8.87 สตางค์ในรอบเดือนก.ย.-ธ.ค. 2560

ทั้งนี้ มองว่า ความเชื่อมั่นของครัวเรือนเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในระยะข้างหน้าจะยังได้รับแรงกดดันทางอ้อมจากการชะลอตัวของรายได้ครัวเรือนเกษตรซึ่งจะส่งผลลบต่อเนื่องไปยังการหมุนเวียนและกระจายรายได้สู่ภาคส่วนเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ รายได้ร้านค้าปลีกที่ลดลงอาจนำมาสู่การจ้างงานที่ลดลงตามไปด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน