คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

อสังหาฯปี64ผ่านจุดต่ำสุด – ในช่วงท้ายของปี ตลาดที่อยู่อาศัยเริ่มมีข่าวดีเมื่อบริษัท ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันการติดโรคโควิด-19 จำนวน 2 ราย มีผลทดลองที่มีความคืบหน้าอย่างมาก ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งออกมาดีกว่าที่คาด โดยส่งผลด้านบวกต่อตลาดที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าที่จะ ฟื้นตัว

สำหรับทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 น่าจะผ่านจุด ต่ำสุดมาแล้ว แต่แนวโน้มข้างหน้ายังคงเผชิญกับความท้าทายต่างๆ อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ แรงกดดันจากจำนวนที่อยู่อาศัยสะสมรอขาย ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการยังระมัดระวังในการเปิดโครงการเพิ่มเติม มองว่าในปี 2564 การเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.2-7.5 หมื่นหน่วย หรือหดตัวประมาณ 1.4% ถึงขยายตัวเล็กน้อย 2.7% (YoY)

ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติยังอยู่ในภาวะของการฟื้นตัวที่ค่อนข้างจำกัด ส่งผลทำให้การจองซื้อที่อยู่อาศัยเปิดใหม่น่าจะยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยผู้ประกอบการยังคงต้องจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มองว่าจำนวนยอดโอนที่อยู่อาศัยในปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 1.85-1.89 แสนหน่วย หรือหดตัวประมาณ 1.1% ถึงขยายตัว 1.1% (YoY) อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่อาจเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศเชิงบวกต่อธุรกิจที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้า

โดยสรุป คาดว่าสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 เป็นการปรับตัวในทิศทางที่ค่อยเป็นค่อยไป เนื่องด้วยปัจจัยแวดล้อมของตลาดที่อยู่อาศัยยังไม่เอื้อ ทำให้ผู้ประกอบการ ยังต้องระมัดระวังการลงทุน เช่นเดียวกับกิจกรรมการซื้อขาย ที่อยู่อาศัยยังมีข้อจำกัดสูง ทำให้ผู้ประกอบการยังคงต้องทำการตลาดอย่างหนัก

นอกจากนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์คงจะมีอุณหภูมิการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะเมื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างเปิดกลยุทธ์เชิงรุกอย่างหนักในทุกกลุ่มลูกค้า ทำให้ผู้ประกอบการรายกลาง และรายเล็กคงต้องปรับตัวในการทำธุรกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด

 

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน