คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

หมดโอกาสเป็นแชมป์ – ปิดฉากไปแล้วกับการส่งออกข้าวของไทยในปี 2563 ที่ปริมาณ 5.7 ล้านตัน หรือลดลง 24.5% (YoY) ต่ำกว่าเป้าที่ภาครัฐตั้งไว้ที่ 7.5 ล้านตัน และยังนับเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี (ตั้งแต่มีการบันทึกสถิติการส่งออกข้าวไทยไว้) โดยไทยหล่นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 3 ของโลก รองจากอินเดียที่ 14.6 ล้านตัน และเวียดนามที่ 6.2 ล้านตัน ตามลำดับ

ปัญหาหลักที่รุมเร้าข้าวไทยคือ พันธุ์ข้าวไทยที่ไม่หลากหลายและเริ่มไม่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลก รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่า ภัยแล้ง ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ล้วนเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้ยอดการส่งออกข้าวไทยในปี 2563 ดำดิ่งเป็นอย่างมาก

สำหรับในปี 2564 มองว่าการส่งออกข้าวของไทยอาจยังประคองตัวได้ในกรอบจำกัดอยู่ที่ราว 5.8-6.0 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 1.3-4.8% (YoY) ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของความต้องการข้าวทั้งหมดในตลาดโลกที่ 1.7%

แม้การส่งออกข้าวไทยจะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยบวกคือ ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นจากการเข้าสู่วงรอบของลานีญา ทำให้มีปริมาณผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ผนวกกับเกษตรกรมีแรงจูงใจในการปลูกข้าวต่อไปจากมาตรการช่วยเหลือของ ภาครัฐ

แต่คงต้องยอมรับว่า การส่งออกข้าวไทยจะยังคงต้องเผชิญปัจจัยลบที่ยังมีอยู่ต่อเนื่องจากปีก่อน แม้ปัจจัยลบดังกล่าวจะให้ภาพที่ดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม ทั้งในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ให้ภาพคลี่คลายขึ้น รวมถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่น่าจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าปีก่อน

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา สุดท้ายจะทำให้ภาพรวมการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้น่าจะสามารถประคองการเติบโตได้แต่คงอยู่ในกรอบที่จำกัด ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวในโลกไว้ได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ราว 12.8%

อีกทั้งยังมองว่าจากนี้ไปไทยน่าจะไม่สามารถกลับไปเป็นแชมป์การส่งออกข้าวโลกได้อีกแล้วดังเช่นในอดีตและที่ไทยเคยส่งออกข้าวเฉลี่ยได้สูงถึงราว 9 ล้านตันต่อปี เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น รวมถึงราคาข้าวไทยที่ยังสูงกว่าคู่แข่งโดยเปรียบเทียบ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน