คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

หนี้ครัวเรือนปี 64 ยังพุ่ง – หนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้นเป็นปีที่สามติดต่อกัน โดยข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 4/2563 บ่งชี้ว่า หนี้ครัวเรือนของไทยปิดสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา ด้วยภาพของระดับหนี้ครัวเรือนที่ทะลุ 14 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปีตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยหนี้ครัวเรือนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 89.3% เมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2563

อย่างไรก็ดี หากมองในมิติอัตราการเติบโตของหนี้ จะพบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 3.9% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ซึ่งสะท้อนว่าทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ต่างก็เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงจากผลกระทบของโควิด-19

มีข้อสังเกตว่า สินเชื่อภาคครัวเรือนที่ยังเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจได้นั้น สะท้อนสถานะของผู้กู้และวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมที่แตกต่างกันระหว่างผู้กู้ 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก เป็นการกู้ยืมของครัวเรือนเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางค่อนไปทางสูง และรายได้ไม่ได้ถูกกระทบมากจากโควิด-19

และกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง และ/หรือเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้กู้หรือครัวเรือนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน และสถานะทางการเงินอ่อนแอลงตามทิศทางเศรษฐกิจ

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่คงต้องยอมรับว่าการลากยาวของปัญหาโควิด-19 ในประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระแสรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่ม

ประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 น่าจะทำให้เงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนปี 2564 มีโอกาสเติบโตขึ้นสูงกว่าปี 2563 ที่เติบโตเพียง 3.9% ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลต่อเนื่องให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 89.0-91.0% ต่อจีดีพีในปี 2564 เทียบกับระดับ 89.3% ต่อจีดีพีในปี 2563

ตอกย้ำว่า ทางการไทยคงหันกลับมาดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจังเมื่อวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน