ปีใหม่สะพัด 3 หมื่นล. – หลังภาครัฐมีมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตามสัญญาณบวกจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น รวมถึงนโยบายเปิดประเทศรับ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยและการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านของคนกรุงเทพฯ ให้กลับมาคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งคาดว่าการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปีใหม่ 2565 จะดีขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าที่เกิดการระบาดหนักใน จ.สมุทรสาคร และกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทำให้งดจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ซึ่งภาพรวมการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ 2564 ซบเซากว่าปกติ ประเมินว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาล ปีใหม่ 2565 รวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% (YoY) (กรณีไม่มีการระบาดรุนแรงเพิ่มเติม) จากปีก่อนหน้าที่หดตัวประมาณ 4.4% (YoY) โดยช่วงปีใหม่ปี 2565 นี้ คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เลือกออกไปใช้จ่ายนอกบ้านมากขึ้นตามการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐและการเร่งทำแคมเปญกระตุ้นยอดขาย ลดราคาสินค้าในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่าง Omicron ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยประมาณการมูลค่าการใช้จ่ายของคนกรุงในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ดังนี้ 1.การเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหารเครื่องดื่ม มีเม็ดเงินมากที่สุดอยู่ที่ 10,750 ล้านบาท รองลงมา คือ 2.ช็อปปิ้ง ซื้อสินค้าส่วนตัว ของขวัญ 8,100 ล้านบาท 3.เดินทางในประเทศ ค่าเดินทาง ที่พัก 7,800 ล้านบาท 4.ค่าบริการ กิจกรรมสันทนาการ 1,900 ล้านบาท 5.ทำบุญ ไหว้พระ สวดมนต์ 1,350 ล้านบาท และ 6.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ให้เงินครอบครัว มอบบัตรของขวัญ อยู่ที่ 600 ล้านบาท ทั้งนี้ คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะใช้จ่ายช่วงปีใหม่ปี 2565 และออกไปเลี้ยงสังสรรค์นอกบ้านมากขึ้น โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับการเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหารและเครื่องดื่มปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,000 บาทต่อคนในปีที่แล้ว เป็น 3,000 บาทต่อคน ส่วนการช็อปปิ้ง ซื้อสินค้าส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็น บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน