คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

จับตาหนี้ครัวเรือน

หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2021 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 4.2% YOY เป็นการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในช่วงเดียวกัน อันเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีมาตรการล็อกดาวน์

สำหรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในไตรมาส 3 ปี 2021 ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 89.3% จากการที่หนี้ครัวเรือนและ GDP ขยายตัวได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยไตรมาส 3 ปี 2021

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ 89.3% ในไตรมาส 3 ก็ยังถือว่าสูงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด (ณ สิ้นปี 2019 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่เพียง 79.8%)
สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในระดับดังกล่าวส่งผลให้ไทยยังคงเป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยจากข้อมูลของ Bank of International Settlement (BIS) ไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามาตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบัน

ประเมินว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอาจกลับมาสูงขึ้นได้อีก โดยเฉพาะจากปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และสภาพคล่องของครัวเรือน ในช่วงเข้าสู่ปี 2022 เศรษฐกิจไทยกำลังกลับมาเผชิญความเสี่ยงจากโควิด-19 อีกครั้งหลังไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน เริ่มแพร่ระบาดในประเทศมากขึ้น

แม้ในเบื้องต้นจะมีข้อมูลว่าไวรัสดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบต่อร่างกายมากเท่ากับสายพันธุ์ก่อนๆ แต่การแพร่ระบาดได้ ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วน นำไปสู่การชะลอการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงการออกมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด

ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจในหลายส่วนเช่นกัน กลไกดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อรายได้และสภาพคล่องของครัวเรือน ผลักดันให้แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเพื่อทดแทนสภาพคล่องของครัวเรือนกลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ ครัวเรือนสูงขึ้นได้อีกครั้ง มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนมีโอกาสกลับมาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในช่วง 89.5-90.5% ต่อ GDP ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 นี้
ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้เป็นต้นไป

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน