จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (ดัชนี KR-ECI) ลดต่ำลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ 30.9 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกือบในทุกองค์ประกอบของดัชนี

โดยเฉพาะมุมมองเกี่ยวกับ “ระดับราคาสินค้า” ในหมวดของอาหารและเครื่องดื่มและราคาพลังงานที่ระดับดัชนีปรับลดลงจากเดือนก่อนถึง 39.9% และ 26.3% (ดัชนีลดลง หมายถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้น) สอดคล้องกับระดับเงินเฟ้อในเดือนม.ค. 2565 ที่พุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 3.23% โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับ สูงขึ้นทั่วโลก และราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้น

สถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจึงเหมือนเข้ามาซ้ำเติมกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่เดิมมีความเปราะบางอยู่แล้ว แม้ว่าล่าสุดภาครัฐจะมีมาตรการบางส่วนออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น การขยายเวลาตรึงราคาแก๊สหุงต้ม (LPG) จากเดิมที่จะสิ้นสุด 15 ม.ค. 2565 รวมถึงเลื่อนเวลาการใช้มาตรการคนละครึ่งเฟส 4 เข้ามาเร็วขึ้นในเดือน ก.พ. 2565

แต่มาตรการต่างๆ สามารถเข้ามาประคับประคองได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากราคาสินค้าปรับขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

ในระยะข้างหน้าระดับราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงจะยังเป็นปัจจัยกดดันภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนต่อเนื่องไปอีกสักระยะ หรือจนกว่าราคาพลังงานในตลาดโลกจะเริ่มปรับเข้าสู่จุดสมดุล คาดว่าอย่างน้อยจนกว่าจะถึงช่วงไตรมาสแรกของปี

อย่างไรก็ดี วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวในระบบ Test & GO อีกครั้ง รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ทยอยกลับมาฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยให้ฝั่งรายได้ของ ครัวเรือนกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นได้บางส่วน

แต่ภาครัฐควรมีมาตรการบรรเทาค่าครองชีพอย่างตรงจุด เช่น ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 มีการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าขึ้น (ค่า FT) ในช่วงแรกที่ปรับเพิ่มขึ้นแต่รายได้ครัวเรือนยัง ไม่กลับมา อาจต้องมีมาตรการเยียวยาออกมาควบคู่ด้วย

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของ ครัวเรือนไทยในระดับปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้าลดลง ต่อเนื่อง ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงยังคงกดดันภาคครัวเรือน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน