“บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด”

ประเมินว่า ในปี 2560 ราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 อาจเฉลี่ยอยู่ที่ 57.6 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 19.0% (YoY) จากผลที่ช่วงครึ่งแรกของปีราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่ขยายตัวกว่า 39.4% (YoY)

แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ทิศทางราคายางพารา เริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในสัปดาห์แรกของเดือนธ.ค.2560 ราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ได้ปรับลดลงมาต่ำสุดในรอบปีที่ 41.35 บาทต่อกิโลกรัม

มองว่า ราคายางพาราต่อจากนี้ต่อเนื่องไปในปี 2561 น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในไตรมาสแรกของปี 2561 โดยมีปัจจัยผลักดันราคายางพาราในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ดังนี้

การนำเข้ายางพาราจากจีนซึ่งมีการนำเข้ายางพาราจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง และส่วนใหญ่จีนมักนำเข้ายางพาราจากไทยมากที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของทุกปี

การนำเข้ายางพาราจากมาเลเซีย โดยมาเลเซียนำเข้ายางพาราจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง และส่วนใหญ่มาเลเซียมักนำเข้ายางพาราจากไทยมากที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของทุกปี

มาตรการกระตุ้นการใช้ยางในประเทศของภาครัฐในปี 2561 ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในอีก 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 2561) เพื่อนำยางมาใช้ในโครงการต่างๆ อีกทั้งยังเร่งรัดให้หน่วยงานราชการนำยางไปใช้อีกราว 50,000-80,000 ตัน รวมถึงยังขอความร่วมมือทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลเร่งซื้อยางมากขึ้น

นอกจากนี้ ผลต่อเนื่องของการควบคุมอุปทานยางในประเทศ ก็อาจช่วยผลักดันราคาในไตรมาสแรกปี 2561 ให้กระเตื้องขึ้นได้

อย่างไรก็ดี แม้ราคายางพาราจะได้รับแรงหนุนจากปัจจัย เชิงบวกในช่วงไตรมาสแรกปี 2561 ให้ราคากระเตื้องขึ้นได้จากราคาในปัจจุบัน

แต่ในช่วงเวลาตั้งแต่ไตรมาส 2-4 ของปี 2561 ยังคงต้องติดตามแนวโน้มราคายางพารา ซึ่งยังมีปัจจัยกดดันสำคัญตามฤดูกาลอย่างอุปทานยางของไทยที่จะออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีผลผลิตยางพารารวมกันกว่า 80% ของปริมาณผลผลิตยางพาราโลก)

ประกอบกับแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจจีนปี 2561 ที่อาจขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อน

ทำให้การประคับประคองราคายางพาราในช่วงเวลาดังกล่าวให้สามารถยืนระดับต่อเนื่องจากไตรมาสแรก อาจยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน