บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

จากการวิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2561 เฉพาะในส่วนของคนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม การที่กำลังซื้อในกลุ่มฐานรากยังไม่ปรับตัวดีขึ้นนัก อาจเป็นผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลตรุษจีนยังไม่ได้อานิสงส์ทั้งระบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนไทยเชื้อสายจีนที่มีมุมมองต่อความสำคัญของแต่ละกิจกรรมอย่างไร โดยแยกได้เป็นดังนี้

1.ค่าใช้จ่ายทางตรง

– ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องเซ่นไหว้ ผลจากความเคร่งครัดในประเพณีที่เริ่มคลายลงจากคนรุ่นใหม่ ประกอบกับการปรับปริมาณเครื่องเซ่นไหว้ให้สอดคล้องกับสมาชิกในครอบครัวที่ลดลง จากการแยกครอบครัวของลูกหลาน ทำให้คนบางกลุ่มตัดสินใจที่จะประหยัดและควบคุมค่าใช้จ่ายให้ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยคาดว่าเม็ดเงินค่าเครื่องเซ่นไหว้ในปีนี้ของ คนกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ประมาณ 5,970 ล้านบาท ทรงตัว ใกล้เคียงกับปีก่อน

– เงินแต๊ะเอีย ถือเป็นการให้กับญาติผู้ใหญ่ ลูกหลาน คนงาน ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ ทำให้คนที่ให้ก็ยังให้อยู่ และกลุ่มคนที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของธุรกิจก็อาจกลับมาแจกแต๊ะเอียมากขึ้น ทั้งในส่วนของเงินสดและทองคำ ซึ่ง เม็ดเงินในส่วนนี้ คาดว่าจะถูกส่งผ่านไปยังธุรกิจต่างๆอาทิ ร้านทอง การจับจ่ายซื้อสินค้าและรับประทานอาหาร รวมถึงการท่องเที่ยว/ทำบุญ คาดว่าเม็ดเงินส่วนนี้ในปี 2561 จะมีประมาณ 3,930 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7% (YoY)

2.ค่าใช้จ่ายทางอ้อม

– ค่าท่องเที่ยว/ทำบุญ ถือเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่อีกส่วนหนึ่งที่กระจายไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เนื่องจากความเชื่อดั้งเดิมที่ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใด เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ก็จะมีการขอพรและเสริมสิริมงคลให้กับครอบครัวและธุรกิจการค้า สำหรับในปีนี้ไม่มีเหตุการณ์พิเศษเช่นปีก่อน ทำให้เม็ดเงินส่วนนี้มีประมาณ 3,540 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12% (YoY)

โดยสรุปแล้ว เทศกาลตรุษจีนปี 2561 คาดว่าเม็ดเงิน ค่าใช้จ่ายในกทม. จะอยู่ที่ประมาณ 13,440 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน