ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์

ร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคสมัยใหม่ในไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น สะท้อนได้จากภาพรวมของตลาดในช่วงปี 2006-2013 ที่เคยเติบโตสูงถึงปีละ 8-9% แต่มาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาการเติบโตเริ่มชะลอตัวลงมาอยู่ที่ราว 5% ต่อปี

ซึ่งนอกจากจะเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญมาจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เห็นได้จากยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sales Growth : SSSG) ที่ชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการขยายสาขาใหม่เป็นหลัก ประกอบกับการเข้ามาของ e-Commerce และการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ล้วนส่งผลให้ภาพรวมการแข่งขันในอุตสาหกรรมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าตลาดร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคสมัยใหม่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ แต่อาจไม่สูงมากเช่นในอดีต โดยคาดว่าในช่วงอีก 3 ปีข้างหน้าจะเติบโตราว 4% ต่อปี เนื่องจากการขยายสาขาจะเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้นทั้งในแง่ของทำเลและโมเดลการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ผู้เล่นรายหลักในไทยยังคงมีแผนขยายสาขา อย่างต่อเนื่อง แต่จะเห็นเทรนด์ของการขยายสาขาในรูปแบบขนาดเล็กมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2018 จะมีจำนวนร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้นอีกราว 10% และ 7% ตามลำดับ

ขณะที่แนวโน้มการขยายสาขาของรูปแบบขนาดใหญ่อย่าง ไฮเปอร์มาร์เก็ตนั้นเริ่มชะลอลง เนื่องจากปัจจัยหลายด้านทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ข้อจำกัดด้านกฎหมายผังเมือง รวมถึงพื้นที่ขนาดใหญ่ที่หายากขึ้น ส่งผลให้โมเดลขนาดเล็กมีโอกาสมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การขยายสาขาร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคสมัยใหม่ในไทยยังมีโอกาสอีกมาก แต่ผู้ประกอบการเริ่มพิจารณาเลือกทำเลและโมเดลธุรกิจด้วยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะการขยายสาขาในกรุงเทพฯ ที่เริ่มมีความหนาแน่นของร้านค้าสูงและมีการแข่งขันในแต่ละพื้นที่มาก ส่งผลให้การขยายสาขาจะคัดเลือกทำเลที่มีศักยภาพมากขึ้น ขณะที่ตลาด ต่างจังหวัดยังมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการขยายสาขาอีกมาก โดยเฉพาะในจังหวัดเมืองรอง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงโมเดลธุรกิจแล้วพบว่า ร้านสะดวกซื้อยังคงเป็นรูปแบบที่มีโอกาสขยายตัวมากที่สุด ในหลายพื้นที่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน