วงล้อเศรษฐกิจ

 

จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนก.พ. 2561 พบว่า ครัวเรือนไทยในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดยังมีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (ช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.2561) ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนก่อน

ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ประจำเดือนก.พ. 2561 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.3 จากระดับ 46.7 ในเดือนม.ค. 2561 ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางฤดูกาลอย่างเทศกาลวันตรุษจีนที่ทำให้ครัวเรือนบางส่วนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตของครัวเรือนบางส่วนที่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ. (เมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2561) ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากครัวเรือนมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในเดือนก่อนหน้า ทำให้ค่างวดที่ต้องชำระในเดือนก.พ. 2561 สูงขึ้น

นอกจากนี้ ครัวเรือนยังเป็นหนี้หลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งนอกจากหนี้บัตรเครดิตแล้ว ครัวเรือนยังมีการกู้ยืม จำนำ จำนอง หรือกดเงินสดจากบัตรเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของครัวเรือน อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนบางส่วนมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนในระยะถัดไป

โดยสรุป จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดประจำเดือนก.พ. 2561 พบว่า ครัวเรือนมีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในอีก 3 เดือนข้างหน้าไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนม.ค. โดยครัวเรือนยังมีมุมมองในเชิงบวกต่อประเด็นเรื่องรายได้ แต่ก็กังวลเรื่องภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การเป็นหนี้ในปัจจุบันของครัวเรือน ในขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามเทศกาลและหนี้สินที่มากขึ้นในเดือนก.พ. 2561 ยังเป็นปัจจัยกดดันภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนมี.ค. 2561 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก.พ. ประกอบกับสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าภายในประเทศคาดว่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากทั้งทางด้านปริมาณและราคา ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนภาคเกษตร

 

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน