วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ใน วันที่ 9 พ.ย. ซึ่งเป็นการประชุมรอบที่ 7 ของปี 2559 คาดว่า กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.50%

โดยความเสี่ยงจากประเด็นการเมืองสหรัฐ ที่กำลังมีน้ำหนักมากขึ้นในช่วงนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้งประธานาธิบดี ทำให้ทุกภาคส่วนเฝ้าติดตามนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงหลังจากนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากท่าทีและนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่จะมีผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ รวมไปถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า ซึ่งความชัดเจนจะมากขึ้นหลังการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย.นี้ผ่านพ้นไป

ทั้งนี้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสหรัฐที่พลิกผัน สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐที่ทยอยปรับดีขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา น่าจะเอื้อให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC รอบเดือนธ.ค. 2559 นี้

นอกจากนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยที่ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง ตอกย้ำถึงโอกาสที่กนง. จะยืนดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิมที่ 1.50% ในการประชุมรอบนี้ด้วยเช่นกัน

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนก.ย. และไตรมาส 3/2559 หลายตัวยังคงให้ภาพการทยอยฟื้นตัวดีขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัว 5 เดือนติดต่อกัน อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวยังคงสามารถรักษาระดับการขยายตัวได้ดีอยู่

ขณะที่ภาคการส่งออกที่เคยเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กลับเริ่มมีสัญญาณที่ฟื้นตัวขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน และช่วยให้ยอดการส่งออก 9 เดือนติดลบลดลงเหลือ 0.7% YoY ดังนั้น ด้วยภาพการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ส่วนที่ยังสามารถประคองการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนแรงหนุนจากมาตรการทางการคลังของภาครัฐ อาทิ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรอบใหม่ (ซึ่งคงเป็นอีกปัจจัยช่วยให้ความเสี่ยงด้านลบของภาคการบริโภคมีจำกัด) ก็คงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ และเพียงพอในการรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยสำหรับทั้งปี 2559 ให้เติบโตใกล้เคียง 3.3% ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน