คอลัมน์ รู้ไปโม้ด : ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก : โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก – ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกคือใคร

จอมยุทธ์

ตอบ จอมยุทธ์

คือปรากฏการณ์ที่อาจนับเป็น นิว นอร์มอล ทางการเมืองของไทย เกิดขึ้นในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี กล่าวคือแม้นายกฯ ที่ผ่านๆ มาจะมีคณะที่ปรึกษาเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่มีครั้งใดที่บรรดาที่ปรึกษาจะผนึกกันเข้าเป็นทีมที่เรียกได้ว่าฟู่ฟ่ายิ่ง และโดยเฉพาะมีลูกชายของนายกฯเป็นหนึ่งในคณะทำงาน

“ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” เป็นชื่อคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในสมัยของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 84/2531 และเนื่องจากได้ใช้ “บ้านพิษณุโลก” ที่ปกติเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย มาปรับเปลี่ยนเป็นสำนักงานของคณะที่ปรึกษา

โดยคณะทำงานส่วนใหญ่ใช้ห้องชั้นล่างด้านซ้ายเป็นห้องทำงาน และใช้พื้นที่ด้านขวาเป็นห้องรับแขก และประชุมร่วมกับ พล.อ.ชาติชาย ทำให้เป็นที่มาของชื่อ ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก หรือเรียกย่อๆ ว่า ที่ปรึกษาบ้านพิษฯ

ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ประกอบด้วยคณะทำงานหลักดังนี้

1.พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษา 2.ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ 3.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ 4.ชวนชัย อัชนันท์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ 5.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย 6.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และ 7.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นักวิจัยประจำคณะที่ปรึกษา

เมื่อแต่งตั้งคณะทำงานหลักของคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกแล้ว ได้เชิญนักวิชาการเข้าร่วมเป็นคณะทำงานอีกจำนวนมาก เช่นชัยอนันต์ สมุทวณิช วิษณุ เครืองาม สังศิต พิริยะรังสรรค์ นิคมจันทรวิทุร โดยแบ่งงานกันทำ

เช่น นายไกรศักดิ์ ดูเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน สิทธิมนุษยชน การเจรจาสันติภาพในกัมพูชากับเขมร 3 ฝ่าย การยกเลิกปร.42, ดร.บวรศักดิ์ ดูเรื่องระเบียบข้อกฎหมาย การร่างวาระ ครม. และระบบการบริหารงานต่างๆ ของนายกรัฐมนตรี

ดร.สุรเกียรติ์ ดูด้านกฎหมายระหว่างประเทศ การเจรจาการค้าและท่าทีต่างๆของรัฐบาลในระดับสากล, ดร.ชัยอนันต์ ดูเรื่องการปฏิรูปการเมือง, ดร.สังศิต และ ดร.นิคม ดูด้านสังคมและแรงงาน เป็นต้น

หนึ่งในผลงานโดดเด่น คณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกอยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย คือ นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

บทบาทของคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกต้องยุติลงในเหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี พ.ศ. 2534 ทั้งนี้ รสช. ได้แจ้งในเหตุผลข้อ 3 จากทั้งหมด 5 ข้อ ว่า คณะที่ปรึกษาฯ ได้ร่วมกับนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี หลอกลวงประชาชนว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

ทั้งที่เป็นเผด็จการรัฐสภาโดยใช้บ้านพิษณุโลกเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ในการยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 คณะ รสช. ได้เข้ายึดและตรวจค้นบ้านพิษณุโลกอย่างละเอียด

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน