หนังสือบุด
(ตอนแรก)

หนังสือบุด เป็นยังไงครับ

พี่พล

ตอบ พี่พล

สมบัติของชาติ “หนังสือบุด” ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความรู้ไว้ว่า หนังสือบุดเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ของภาคใต้ที่บันทึกสรรพวิทยาการต่างๆ ไว้ก่อนที่การพิมพ์จะแพร่หลายอย่างเช่นปัจจุบัน หนังสือบุดหรือคัมภีร์บุดมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำด้วยกระดาษข่อยแผ่นยาวๆ หน้าแคบ พับทางขวางทบกลับไปกลับมาคล้ายผ้าจีบ มีทั้งชนิดกระดาษขาวและกระดาษดำ ซึ่งอาจจะมีชื่อเรียกต่างๆ กันตามภูมิภาคอื่นๆ เช่น สมุดข่อย, สมุดไทย เป็นต้น

คำว่า “บุด” ในภาษาถิ่นใต้มีที่มาจากรากคำภาษาสันสกฤต “ปุสตก” และภาษาบาลีว่า “โปตถก” หมายถึงคัมภีร์ใบลาน, ผ้า, เปลือกไม้ และรูปปั้น หรือคำว่า “ปุฎ” หมายถึงการพับ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับหนังสือบุดคือเป็นหนังสือพับ ทั้งนี้ ในภาษาถิ่นใต้จะออกเสียงคำว่า “สมุด” เป็น “มุด” จึงอาจกลายเป็นบุดในเวลาต่อมา

ในหนังสือบุดเอกสารจะเป็นตัวเขียนที่เขียนขึ้นหรือจารขึ้น เพราะสมัยโบราณก่อนการใช้สมุดแบบฝรั่ง การบันทึก เรื่องราวที่ใช้ตัวอักษรจะใช้วิธีจาร หรือจารึก หรือบันทึกลงในสมุดข่อย หรือใบลาน ซึ่งล้วนแต่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวใต้ในอดีต และหากพิจารณาหนังสือบุดในมุมมองของวิชาการจดหมายเหตุ (Archival science) จะเห็นได้ว่าหนังสือบุดถือเป็นเอกสารจดหมายเหตุ (Archival records) หรือเอกสารประวัติศาสตร์ (Historical records) ประเภทหนึ่ง เพราะเป็นเอกสารที่คนในยุคโบราณได้ทำขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต เช่น เป็นคู่มือการประกอบอาชีพ หรือใช้ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญๆ เช่น พิธีแต่งงาน พิธีขึ้นบ้านใหม่ หรือเกี่ยวกับพิธีศพ ตลอดถึงใช้เป็นแหล่งอ้างอิงหรือใช้เพื่อให้คติชีวิตและเพื่อจรรโลงใจ

เรื่องราวอาจจะเป็นนิทาน, สุภาษิต, คำสอน, ความเชื่อ, ฤกษ์ยามโหราศาสตร์ คำสอนในศาสนา, ไสยศาสตร์, เวทมนตร์คาถา, ตำรายา, ประเพณี, พงศาวดาร, ตำนาน, บทบัญญัติแห่งกฎหมาย

ยกตัวอย่าง เช่น วรรณคดีทางศาสนามหาชาดก กายนคร คำกาพย์, วรรณคดีคำสอน เช่น กฤษณาสอนน้อง สุภาษิตร้อยแปด สุภาษิตสอนหญิง วรรณคดีพิธีกรรม เช่น บททำขวัญนาค บททำขวัญเรือ บททำขวัญข้าว วรรณคดีตำนานว่าด้วยความเป็นมาของศาสนสถานที่สำคัญๆ เช่น ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานการสร้างพระปรางค์เมืองหงสา วรรณคดีนิทานที่รู้จักกันแพร่หลายในภาคใต้ เช่น เรื่องพระสุธนมโนห์รา นางสิบสอง นกกระจาบ สุบิน นายดั่น และวันคาร วรรณคดีนิราศ เช่น นิราศเกาะสมุย นิราศถ้ำเขาเงิน นิราศพัทลุง นิราศเสือขบ เป็นต้น

หนังสือบุดของภาคใต้มีปรากฏอยู่ตามจังหวัดต่างๆ และมีหลายขนาดด้วยกัน แต่ละขนาดสัมพันธ์กับเนื้อหาที่เขียน เช่น ถ้าใช้บันทึกวรรณกรรมประเภทศาสนาจะเป็นหนังสือพระมาลัย โดยบันทึกอักษรขอมบาลีหรือขอมไทย มีความกว้าง 15-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 70 เซนติเมตร สำหรับนิทานชาดก, นิทานประโลมโลก, ตำนาน, พงศาวดาร หรือตำราดูลักษณะเรือ จะเป็นหนังสือบุดขนาดกลางกว้าง 10-13 เซนติเมตร และยาว 34-40 เซนติเมตร ส่วนประเภทของตำรายาหรือคาถาอาคมจะนิยมบันทึกลงหนังสือบุดขนาดเล็กสุด

ฉบับพรุ่งนี้ (29 ก.ค.) อ่านต่อถึงคุณค่าของหนังสือบุดรวมภูมิปัญญาบรรพชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน