สถานีหัวลำโพง (ตอนจบ)

ฉบับวานนี้ (2 ก.พ.) “วิทย์” ถามถึงการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง ทั้งขอทราบประวัติด้วย เมื่อวานตอบรายละเอียดการปิดสถานีหัวลำโพงไปแล้ว วันนี้ย้อนดูกำเนิดสถานีหัวลำโพง หรือชื่ออย่างเป็นทางการ “สถานีกรุงเทพ”

คำตอบนำมาจากรายงานของมติชน ว่า “สถานีหัวลำโพง” หรือเรียกให้ถูกต้องคือ “สถานีกรุงเทพ” เดินทางผ่านกาลเวลามานานกว่าศตวรรษ โดยครบรอบ 100 ปีไปเมื่อ พ.ศ. 2559 นับแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปทรงกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 หลังเริ่มต้นการก่อสร้างตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2453

ตัวสถานี สร้างบนพื้นที่ 120 ไร่เศษ ในท้องที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มีอาณาเขตทิศเหนือจรดคลองมหานาค ทิศใต้จรดถนนพระราม 4 ทิศตะวันออกจรดถนนรองเมือง ทิศใต้จรดคลองผดุงกรุงเกษม ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซองส์ มีลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ออกแบบโดย มาริโอ ตามันโญ สถาปนิกชาวอิตาลีผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม

วัสดุก่อสร้าง นำเข้าสำเร็จรูปจากเยอรมนี ลวดลายประดับวิจิตรตระการตา โดดเด่นด้วยกระจกสีที่ช่องระบายอากาศทั้งด้านหน้าและด้านหลัง อีกทั้งนาฬิกาขนาดใหญ่ ซึ่งติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางยอดโดมสถานี สั่งทำพิเศษ ไม่ระบุชื่อบริษัทผู้ผลิต มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ควบคุมด้วยไฟฟ้าระบบ ดี.ซี.จากห้องชุมสาย ใช้เป็นเครื่องบอกเวลาแก่ผู้สัญจรไปมานับแต่อดีตจวบจนทุกวันนี้

เกี่ยวกับชื่อ “สถานีกรุงเทพ” ก็เนื่องมาจากสถานีหัวลำโพงที่คนไทยเรียกคุ้นปาก ฟังคุ้นหูนั้น เป็นคนละแห่งกับที่เรารู้จัก กล่าวคือ ในย่านอันเป็นที่ตั้งของสถานีดังกล่าว เดิมมีสถานีหัวลำโพง และสถานีกรุงเทพ ตั้งอยู่ใกล้กัน โดยสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟเอกชนสายปากน้ำ ซึ่งดำเนินกิจการมาก่อนกรมรถไฟหลวง พูดง่ายๆ คือเกิดก่อนสถานีกรุงเทพ เป็นอาคารเรือนแถวเล็กๆ วางตัวในแนวตะวันตก-ตะวันออก เลียบขนานไปกับทางรถไฟสายปากน้ำ มุ่งหน้าไปทางสมุทรปราการ

ต่อมา มีการสร้างสถานีกรุงเทพ ซึ่งเดิมเป็นอาคารไม้ ตั้งอยู่เยื้องกับโรงเรียนสายปัญญา ก่อนจะสร้างอาคารใหม่ในปลายรัชกาลที่ 5 จนเสร็จสิ้นในต้นรัชกาลที่ 6 ดังกล่าว

สถานีหัวลำโพงจึงตั้งอยู่ร่วมสมัยกันในช่วงเวลาหนึ่ง กระทั่ง “สถานีหัวลำโพง” ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 พร้อมกับการยกเลิกกิจการรถไฟสายปากน้ำแล้วสร้างถนนทับทางรถไฟเดิม ได้แก่ ถนนพระราม 4 ถนนทางรถไฟสายเก่า และบางช่วงของถนนสุขุมวิท ที่ตั้งของสถานีหัวลำโพงเดิม ปัจจุบันคือเกาะกลางถนนพระรามที่ 4 หน้าสถานีกรุงเทพซึ่งสุดท้ายถูกเรียกว่าสถานีหัวลำโพงในภายหลังกระทั่งทุกวันนี้

ทั้งสถานีหัวลำโพงและสถานีกรุงเทพล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การคมนาคมไทย ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ทั้งยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนถึงสถานีรถไฟหลักแห่งสยาม ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะปรับให้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ในระยะเวลาอีกไม่นานนับจากนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน