กะเหรี่ยงกับไทย

ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงย้ายถิ่นฐานมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยนานแล้วหรือยัง

หอม

ตอบ หอม

คำตอบนำมาจากบทความ “กะเหรี่ยง เป็นใคร? มาจากไหน? มีความสัมพันธ์กับไทยอย่างไร?” เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.silpa-mag.com ดังนี้

ปัจจุบันเมื่อพูดถึง “กะเหรี่ยง” ชาวไทยภูเขาเผ่าหนึ่ง คงหนีไม่พ้นเรื่องคนไร้สัญชาติที่เป็นปัญหามายาวนาน ในอดีตพวกเขาก็ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกทำลายป่าจากการทำไร่หมุนเวียน แล้วจริงๆ กะเหรี่ยงเป็นใครมาจากไหน มีความสัมพันธ์กับคนไทย เมืองไทยมาแต่เมื่อใด

คำตอบเหล่านี้ สุรพงษ์ ก้องจันทึก ผู้ทำงานเกี่ยวกับชาวกะเหรี่ยงและสิทธิมนุษยชน ค้นคว้าจากเอกสารและงานวิจัยต่างๆ เขียนเป็บทความชื่อ “กะเหรี่ยง ความสัมพันธ์อันยาวนานกับไทย” ในศิลปวัฒนธรรม เป็นอีกหนึ่งข้อมูลดีๆ ที่น่าสนใจ

รายงานและเอกสารเกี่ยวกับกะเหรี่ยงของบุคคลและหน่วยงานต่างๆ สรุปได้ว่า กะเหรี่ยงอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน โดยอาศัยอยู่ระหว่างพรมแดนไทย-พม่าเมื่อประมาณ 600-700 ปีมาแล้ว โดยสถาบันวิจัยชาวเขาพบว่า กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในประเทศพม่าก่อนที่พม่าจะครอบครองดินแดนแถบนี้

สำหรับประเทศไทย มีหลักฐานว่ากะเหรี่ยงอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หนังสือ ไทยรบพม่า กล่าวถึงแม่ทัพของสมเด็จพระนเรศวรที่เป็นกะเหรี่ยงชื่อ สิน ภูมิโลกาเพชร ขณะที่หนังสือ คำให้การชาวกรุงเก่า ก็เขียนถึงการส่งส่วยของกะเหรี่ยงเมืองศรีสวัสดิ์ (อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี) เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเป็นประจำ

ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา พม่าเข้ายึดครองเมืองหงสาวดี กะเหรี่ยงหลายกลุ่มอพยพตามมอญเข้ามาสู่ประเทศไทย นับเป็นการอพยพครั้งแรกที่มีหลักฐาน โดยไทยให้กะเหรี่ยงอยู่ที่ ลำห้วยตะเพินคี่ สุพรรณบุรี, ลำห้วยคอกควาย อุทัยธานี, อ.สังขละบุรี และ อ.ศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี, เพชรบุรี, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ และอยุธยา

ในสมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ หัวหน้าชุมชนกะเหรี่ยงติดต่อกับเจ้าเมืองกาญจนบุรี ขอตั้งรกรากและสวามิภักดิ์ต่อสยาม ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ที่เมืองสังขละบุรี เขตติดต่อด่านเจดีย์สามองค์ และเมื่อ พ.ศ. 2365 กะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวได้ช่วยขับไล่ทหารพม่าที่มาลาดตระเวนในพื้นที่

ความสัมพันธ์ไทย-กะเหรี่ยง ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-3 ปรากฎอยู่ในงานศิลปะต่างๆ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่เขียนสมัยรัชกาลที่ 1 มีภาพกะเหรี่ยงถือหน้าไม้อยู่ตามซอกเขา รวมถึงภาพเขียนที่วัดพระเชตุพนฯ และวัดบางขุนเทียนในรัชกาลที่ 2-3

เมื่อสงครามระหว่างไทย-พม่าสิ้นสุดลง พ.ศ. 2396 กระเหรี่ยงที่เคยช่วยป้องกันชายแดนก็ยังอยู่รวมกับสังคมไทย โดยส่งเครื่องบรรณาการถวายกษัตริย์ไทยทุก 3 ปี

ในสมัยรัชกาลที่ 5 สถานะของผู้นำกะเหรี่ยงเป็นที่ยอมรับ รัชกาลที่ 5 เคยทรงประกาศว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินของพวกกะเหรี่ยงด้วย และเมื่อมีการตั้งหน่วยงานราชการอย่างกองตำรวจภูธร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็รับสั่งว่า กะเหรี่ยงที่เคยทำงานในกองอาทมาต หากสนใจจะเข้าทำราชการในกองงานดังกล่าวก็ได้

นอกจากนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ พระธิดาในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเคยเสด็จชุมชนกะเหรี่ยงในจ.กาญจนบุรี และสนพระทัยการรำพื้นบ้าน ได้ขอสาวกะเหรี่ยง 2 นาง คือ นั่งมิ่นกงและหนองเดงเค่ง มาเป็นข้าหลวงเพื่อฝึกสอนการรำแบบกะเหรี่ยงในวังด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน