ขุนช้าง-ขุนแผน:สืบประวัติ

น้าชาติ ดูละคร วันทอง เวอร์ชั่นน้องใหม่คนสวย อยากรู้ เรื่องขุนแผนมีจริงไหม

เฮียกี่

ตอบ เฮียกี่

คำตอบนำมาจากรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน “ขุนช้างขุนแผน พื้นเพสุพรรณเมืองเพลง วรรณกรรมผู้ดีกระฎุมพี” ที่อธิบายถึงความเป็นมาของวรรณกรรมดังกล่าวมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ขุนช้างขุนแผนไม่ใช่วรรณกรรมสะท้อนชีวิตชาวบ้านอย่างที่มักเข้าใจกัน แต่เป็นวรรณกรรมกระฎุมพีที่เชื่อมโยงกับการเมืองเป็นหลัก คือการตีเมืองเชียงใหม่

ขุนช้างขุนแผนไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นตำนานวีรบุรุษของรัฐสุพรรณภูมิ มีคนชอบพูดว่า สาเหตุที่วรรณกรรมเรื่องนี้ไม่ปรากฏในสมุดข่อย เพราะพม่าเผาคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งไม่จริง เพราะไม่เคยมีสมุดข่อยตั้งแต่แรก เนื่องจากเดิมเป็นคำบอกเล่า เพิ่งปรากฏเป็นลายลักษณ์ครั้งแรกสมัยรัตนโกสินทร์

ส่วนที่ระบุว่าในกลอนเสภาบอกศักราช 147 เป็นศักราชสมมติ หมายถึง เก่าแก่ดึกดำบรรพ์ เหมือนที่คนชอบพูดคำว่า พระเจ้าเหา “ขุนช้างขุนแผนสมัยอยุธยาและธนบุรี เล่นเป็นเพลงโต้ตอบ และเพลงเรื่อง โดยยังไม่ตีกรับเสภา กระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์จึง มีเป็นเสภา วรรณกรรมเรื่องนี้ไม่ใช่วรรณกรรมชาวบ้าน แต่เป็นเรื่องของผู้ดี คนแต่งกลอนเสภาล้วนมาจากผู้ดี เนื้อหาหลักก็เป็นวิถี ชีวิตผู้ดี คนอ่านสมัยแรกก็ผู้ดี

โครงเรื่องหลักคือการตีเมืองเชียงใหม่ เป็นเรื่องการเมืองในรัฐสมัยโบราณ สะท้อนความสัมพันธ์เชิงเครือญาติใกล้ชิดระหว่าง สุพรรณฯ ล้านนา ล้านช้าง ชื่อขุนแผน มีในโองการแช่งน้ำ หมายถึงพระพรหม

คำว่าขุนแผน เพี้ยนจาก แถน คือผีฟ้าพญาแถน ซึ่งเป็นผีบรรพชน มีกำลังอำนาจเทียบพระพรหมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ส่วนดาบฟ้าฟื้นก็ไม่ใช่ชื่อที่ตั้งขึ้นมาเท่ๆ แต่มีในจารึกสุโขทัยหลักที่ 45 คือจารึกปู่สบถหลาน ปู่ฟ้าฟื้นก็คือผีบรรพชน สำหรับพระพันวัสสาก็คือพระพันปี เป็นกษัตริย์ในตำนาน เหมือนพระเจ้าเหาในวัฒนธรรมจีน เพราะสุพรรณฯ ใกล้ชิดกับจีน”

ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม ว่า เรื่องของขุนช้าง-ขุนแผนยังมีการถกเถียงว่ามีที่มาที่ไปยังไง อย่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อว่าเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องจริงสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ขณะที่สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้ความเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องจริงแต่เป็นเรื่องแต่งเพื่อยกย่องสมเด็จ พระพันวษา ส่วนคริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร เชื่อว่า มีเค้าโครงเรื่องจริงปรากฏอยู่ในส่วนที่เป็นเหตุการณ์ฆ่านางวันทอง

แต่ไม่ว่าเรื่องราวของขุนช้างขุนแผนจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งมากน้อยเพียงใด มันก็เป็นเครื่องสะท้อนสภาพสังคมที่เสภาเรื่องนี้ค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ยุคอยุธยามาจนถึงกรุงเทพฯ และน่าจะหนักไปทางกรุงเทพฯ มากกว่า หากอิงตามความเห็นของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่กล่าวว่า “เรื่องนี้ถูกใช้สำหรับขับเสภามาแต่ปลายอยุธยา แต่เรารู้โครงเรื่องและตัวอย่างเสภาจากอยุธยาน้อยมาก ขุนช้างขุนแผนฉบับที่เรารู้จักทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ถูกชำระแล้วหรือยังไม่ถูกชำระ ล้วนเป็นงานสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน