มิน อ่อง ไหล่

ไม่ได้ชื่นชม แค่อยากรู้ประวัตินายพลคนยึดอำนาจพม่า

นำ

ตอบ นำ

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของ เมียนมา ผู้นำในการก่อรัฐประหาร พ.ศ.2564 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีบริหารประเทศ เกิดที่ทวายเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2498 ในครอบครัวชนชั้นกลาง บิดาเป็นข้าราชการฝ่ายวิศวกรรมโยธา

จบการศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันประเทศพม่า และสำเร็จนิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ย่างกุ้ง จากนั้นศึกษาต่อที่ Defense Service Academy (วิทยาลัยกลาโหม)

เข้ารับราชการในกองทัพบกเมื่อปี 2520 ไต่ระดับอย่างรวดเร็ว ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารรัฐมอญ พ.ศ. 2545 ทั้งเคยเป็นผู้บัญชาการกรมทหารภาคสามเหลี่ยมในรัฐฉาน จุดยุทธศาสตร์ในการเจรจากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย 2 กลุ่ม คือ กองทัพแห่งรัฐว้าและกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือกลุ่มหยุดยิงเมืองลา

พ.ศ.2552 ในยศพลโท เป็นผู้นำกำลังเข้าต่อต้านกลุ่มกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย โกก้าง ส่งผลให้ชาวโกก้างราว 3.7 หมื่นคนลี้ภัยเข้าไปในประเทศจีน ปีถัดมาได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองยุทธการพิเศษที่ 2 หน่วยบัญชาการทหารภาครัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยง และเสนาธิการร่วมกองทัพพม่า และในพ.ศ.2554 สืบทอดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดต่อจากพล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย

เป็นนายทหารที่มีอิทธิพล และเป็นผู้หนึ่งที่เคยประกาศต่อหน้ารัฐบาลว่า กองทัพจะยังคงมีบทบาทในทางการเมืองต่อไปเหมือนเช่นในอดีต และย้ำว่ากองทัพมีหน้าที่ต้องปกป้องรัฐธรรมนูญ

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ (เขียนชื่อตามกระทรวงการต่างประเทศ) เป็น 1 ในผู้นำทหารที่ถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นแบล็กลิสต์ ห้ามเข้าประเทศ ด้วยข้อหาเป็นผู้มีบทบาทในการกวาดล้าง วิสามัญฆาตกรรมชาวมุสลิมโรฮิงยาในประเทศเมียนมา เมื่อปี 2562

สำหรับประเทศไทย รู้จักในฐานะบุตรบุญธรรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษผู้ล่วงลับ โดยมิน อ่อง ไหล่ ได้พบกับ พล.อ.เปรมเมื่อปี 2555 วันที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อลงนามแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ พล.อ.เปรม ที่ทำเนียบองคมนตรี ได้เผยความรู้สึกตอนหนึ่งว่า เหมือนสูญเสียบิดา

“เมื่อได้เป็น ผบ.ทสส. แล้วจึงได้เข้าพบ พล.อ.เปรม ได้นั่งเคียงข้างกัน ได้จับมือกัน ถ้ามีเรื่องอะไรที่สำคัญก็จะจับมือคุยกัน เปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นทุกครั้งที่ได้พูดคุยกัน ผมจึงเปรียบ พล.อ.เปรมเหมือนบิดา

คำสั่งสอนของ พล.อ.เปรม มีมากมาย ประกอบด้วย 2 ประเด็น คือ 1.ทางด้านการเมือง ก็จะพูดถึงประชาธิปไตย จะต้องเป็นประชาธิปไตยของประเทศของตนเอง หรือประเทศใครประเทศคนนั้น ให้เหมาะสมกับประเทศตนเอง และประเด็นที่ 2 ที่ พล.อ.เปรมพูดอยู่เสมอว่า เราเกิดในแผ่นดินนี้ เราต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ถ้าใครไม่ตอบแทนคุณแผ่นดิน คนนั้นถือว่าเป็นคนทรยศต่อประเทศชาติ”

ทั้งนี้ ก่อนการรัฐประหารจะปรากฏเป็นที่ประจักษ์ของโลก ท่ามกลางกระแสข่าว หลังจากกองทัพแสดงท่าทีไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ เป็นฝ่ายกวาดชัยชนะไปอย่างถล่มทลาย) วาทะสำคัญของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เมียวดี ว่า “ในบางสถานการณ์ก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องล้มล้างรัฐธรรมนูญ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน