เช็งเม้ง

วันเช็งเม้งสำคัญยังไง มีที่มาเป็นตำนานไหม

ดวงฤทธิ์

ตอบ ดวงฤทธิ์

ต้นเค้าของเทศกาลเช็งเม้งจากวรรณกรรมในอดีตและบันทึกเก่า พอสรุปได้ว่า เทศกาลนี้เกิดในราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (พ.ศ. 551-763) ซึ่งตั้งแต่โบราณ ทั้งในราชสำนักและประชาชน มีพิธีสำคัญตรงกัน คือการบวงสรวงเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

ชิงหมิง (qing-ming) หรือ เช็งเม้ง, เชงเม้ง (สำเนียงแต้จิ๋ว) หรือ เฉ่งเบ๋ง (สำเนียงฮกเกี้ยน) เช็ง หรือ เฉ่ง แปลว่า สะอาด บริสุทธิ์, เม้ง หรือ เบ๋ง แปลว่า สว่าง รวมแล้วหมายความถึงช่วงเวลาแห่งความแจ่มใสรื่นรมย์

เช็งเม้งในประเทศจีนเริ่มต้นวันที่ 4 หรือ 5 เมษายน ไปจนถึง 19-20 เมษายน อันเป็นช่วงเวลาของฤดูใบไม้ผลิ อากาศคลายความหนาวเย็น เริ่มเข้าสู่ความอบอุ่น มีฝนตกปรอย ๆ บรรยากาศสดชื่น ท้องฟ้าใสสว่าง (เป็นที่มาของชื่อ เช็งเม้ง) สำหรับในประเทศไทยเทศกาลเช็งเม้งก็ถือเอาวันที่ 4-5 เมษายนเช่นกัน

ประเพณีที่สำคัญมากที่สุดในเทศกาลนี้ คือ ไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน หรือ ฮวงซุ้ย (แต้จิ๋ว) หรือ บ่องป้าย (ฮกเกี้ยน) เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยมีอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อที่เน้นเรื่องความกตัญญูเป็นสำคัญ

ตำนานเล่าว่า ในยุคชุนชิว องค์ชายฉงเอ่อแห่งแคว้นจิ้นหนีภัยออกนอกแคว้นไปมีชีวิตตกระกำลำบากนอกเมือง มี เจี้ยจื่อทุย ดูแลรับใช้ และเขาเชือดเนื้อที่ขาของตนเป็นอาหารให้องค์ชายเสวยประทังชีวิต

ต่อมาเมื่อองค์ชายได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น นาม จิ้นเหวินกง ก็ได้ตอบแทนขุนนางทุกคนที่เคยให้ความช่วยเหลือ แต่ลืมเจี้ยจื่อทุยไปจนมีคนเตือน จิ้นเหวินกงได้จัดหาบ้านให้เขาและมารดาเข้ามาอยู่อย่างสุขสบายในเมือง แต่เจี้ยจื่อทุยปฏิเสธ

จิ้นเหวินกงจึงสั่งเผาภูเขา หวังว่าเจี้ยจื่อทุยจะพามารดาออกมาจากบ้าน แต่สองแม่ลูกกลับต้องตายในกองเพลิง เพื่อรำลึกถึงเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงจึงมีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการก่อไฟในวันนี้ของทุกปี และให้รับประทานแต่อาหารสดๆ เย็นๆ จนกลายเป็นที่มาของเทศกาลวันกินอาหารเย็น หรือ หันสือเจี๋ย ซึ่งเป็นวันสุกดิบก่อนวันเช็งเม้ง 1 วัน

คนโบราณถือปฏิบัติกิจกรรมตามประเพณีวันหันสือเจี๋ยต่อเนื่องไปจนถึงวันเช็งเม้ง นานวันเข้าเทศกาลทั้งสองก็รวมเป็นวันเช็งเม้งวันเดียว การไหว้เจี้ยจื่อทุยจึงค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นการไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษแทน

ยังมีข้อมูลที่ ถาวร สิกขโกศล เล่าไว้ในหนังสือ เทศกาลและการเซ่นไหว้ ว่า การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับของลูกหลานจีนจริงๆ แล้วเริ่มไหว้กันได้ตั้งแต่ วันชุงฮุง (20-21 มีนาคม) จนถึง วันเช็งเม้ง (4-6 เมษายน)

ทั้งนี้ ชุงฮุงและเช็งเม้ง เป็น 1 ใน 24 ปักษ์ย่อยที่แบ่งตามฤดูกาล ซึ่งแต่ละปักษ์มีช่วงเวลา 14-16 วัน เป็นการแบ่งตามการโครจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก เพื่อจัดทำปฏิทินเกษตรเป็นคู่มือการทำนา ปฎิทินดังกล่าวใช้ทั้งจันทรคติและสุริยคติควบกัน

ชุงฮุง เป็นปักษ์ที่ 4 แปลว่า กึ่งฤดูใบไม้ผลิ โลกโคจรมาถึงจุด 0 องศา ตรงกับวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม อากาศหายหนาว เย็นสบาย วันนี้กลางคืนกลางวันยาวเท่ากัน และหลังจากวันนี้ไปช่วงเวลากลางวันก็จะยาวขึ้น

เช็งเม้ง เป็นปักษ์ที่ 5 แปลว่าแจ่มใส สดชื่น เย็นสบาย (ตามสภาพอากาศในประเทศจีน)โลกโคจรมาถึงจุด 15 องศา วันที่ 4-6 เมษายน แต่ส่วนมากตรงกับวันที่ 5 เมษายน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน